รีเซต

ญี่ปุ่นโชว์เทคโนโลยีปืนแม่เหล็กไฟฟ้า รับมือภัยคุกคามจากขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง

ญี่ปุ่นโชว์เทคโนโลยีปืนแม่เหล็กไฟฟ้า รับมือภัยคุกคามจากขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง
TNN ช่อง16
24 เมษายน 2568 ( 15:06 )
15

กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น (JMSDF) เผยโฉมภาพล่าสุดของเทคโนโลยีปืนแม่เหล็กไฟฟ้าเรลกัน (Railgun) ต้นแบบ ซึ่งพัฒนาโดยหน่วยงานจัดซื้อ เทคโนโลยี และโลจิสติกส์ (ATLA) ของกระทรวงกลาโหม โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บป้องกันประเทศจากภัยคุกคามทางอากาศระดับสูง เช่น ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง

แม้ปืนเรลกันจะดูเหมือนหลุดมาจากโลกของวิดีโอเกม แต่เทคโนโลยีเบื้องหลังกลับมีพื้นฐานที่เรียบง่ายและน่าทึ่ง ปืนประเภทนี้ใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในการขับเคลื่อนหัวกระสุนด้วยความเร็วสูง แทนการใช้ดินปืนหรือวัตถุระเบิดแบบดั้งเดิม คล้ายกับหลักการทำงานของรถไฟแม็กเลฟ หรือระบบยิงเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินสมัยใหม่

ญี่ปุ่นเริ่มลงทุนในเทคโนโลยีนี้อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2016 โดยใช้เงินงบประมาณกว่า 46,300 ล้านเยน ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 10,051 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาอาวุธต้นแบบ ปืนเรลกันรุ่นล่าสุดของญี่ปุ่นได้รับการติดตั้งบนเรือทดสอบ JS Asuka และสามารถยิงกระสุนขนาด 40 มม. น้ำหนัก 320 กรัม ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 6.5 มัค โดยใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 5 เมกะจูลต่อนัด แต่ยังไม่เปิดเผยระยะหวังผลของปืนรุ่นนี้ ในอนาคตมีเป้าหมายจะเพิ่มพลังงานไฟฟ้าเป็น 20 เมกะจูลในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอาวุธชนิดนี้ยังคงเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งการจัดการระบบพลังงานที่ต้องการ การระบายความร้อนของระบบ และการออกแบบให้เหมาะสมกับการติดตั้งบนเรือรบหรือแพลตฟอร์มอื่นๆญี่ปุ่นเผยโฉมปืนเรลกันต้นแบบ ใช้พลังแม่เหล็กไฟฟ้ายิงกระสุนความเร็วเหนือเสียง เพื่อตอบโต้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกจากจีนและชาติอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายเพิ่มพลังยิงเป็น 20 เมกะจูลในอนาคต แต่ยังไม่มีกำหนดใช้งานจริง

หนึ่งในแรงจูงใจหลักของญี่ปุ่น คือ การเตรียมรับมือกับขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่มีความสามารถในการหลบหลีกและเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้การยิงสกัดต้องอาศัยกระสุนอัจฉริยะที่มีระบบนำวิถี เซ็นเซอร์ขั้นสูง และวัสดุพิเศษ อย่างเช่น ทังสเตน เพื่อให้สามารถตอบสนองและทำลายเป้าหมายได้แม่นยำในเสี้ยววินาที

การพัฒนาอาวุธชนิดนี้จึงไม่ใช่เพียงการเพิ่มศักยภาพในการยิง แต่รวมถึงการสร้างระบบอาวุธอัจฉริยะที่สามารถต้านทานแรงเร่งระดับ 30,000 g ซึ่งสูงเกินกว่าที่มนุษย์จะทนไหว ขณะนี้กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น (JMSDF) ยังไม่มีการเปิดเผยกรอบเวลาที่แน่ชัดสำหรับการนำปืนเรลกันไปใช้งานจริง แต่อาจนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของญี่ปุ่นในการเตรียมรับมือกับภัยคุกคามทางทหารยุคใหม่ที่ซับซ้อนและรวดเร็วกว่าเดิม


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง