รีเซต

ข้อกล่าวอ้างที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีอะไรบ้าง แล้วความจริงคืออะไร

ข้อกล่าวอ้างที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีอะไรบ้าง แล้วความจริงคืออะไร
ข่าวสด
18 พฤศจิกายน 2564 ( 11:12 )
85

ขณะที่ผู้นำทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมสุดยอด COP26 เพื่อหารือกันว่า จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร ในโซเชียลมีเดียได้มีการเผยแพร่ข้อกล่าวอ้างหลายอย่างเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่ทำให้คนเข้าใจผิดและความเชื่อผิด ๆ

 

บีบีซีได้เข้าไปดูข้อกล่าวอ้างบางส่วนที่มีการส่งต่อกันมากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา และนำมาตรวจสอบว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องเหล่านั้นไว้ว่าอย่างไร

 

ข้อกล่าวอ้าง : ดวงอาทิตย์จะเย็นลง ช่วยยุติโลกร้อน

ผู้คนพากันกล่าวอ้างอย่างไม่ถูกต้องมานานแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในศตวรรษที่ผ่านมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฏจักรตามธรรมชาติของโลก ไม่ใช่เป็นผลมาจากพฤติกรรมของมนุษย์

ในช่วงไม่กี่เดือนนี้ เราได้เห็นการโต้แย้งรูปแบบใหม่ ๆ ในเรื่องนี้

 

โพสต์หลายพันโพสต์ทางโซเชียลมีเดีย ที่ผ่านตาคนนับแสน ๆ คนในช่วงปีที่ผ่านมาอ้างว่า "แกรนด์ โซลาร์ มินิมัม" (Grand Solar Minimum) จะช่วยทำให้อุณหภูมิลดลงเองตามธรรมชาติ โดยที่มนุษย์ไม่ต้องทำอะไร

 

แต่ข้อกล่าวอ้างนี้ขัดกับหลักฐานที่มี

 

แกรนด์ โซลาร์ มินิมัม คือปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริง เมื่อดวงอาทติย์ให้พลังงานน้อยลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวัฏจักรตามธรรมชาติของดวงอาทิตย์

ผลการศึกษาหลายแห่งระบุว่า ดวงอาทิตย์อาจจะมีช่วงเวลาที่อ่อนกำลังลงในศตวรรษนี้ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกลดลงชั่วคราวอย่างมากที่สุด 0.1-0.2 องศาเซลเซียส

 

การลดลงของอุณหภูมิโลกเพียงเท่านี้ไม่ได้เพียงพอต่อการชดเชยอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งได้ทำให้โลกร้อนขึ้นแล้วราว 1.2 องศาเซลเซียสในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา และอาจจะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 2.4 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้

 

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในช่วงไม่นานนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงวัฏจักรตามธรรมชาติของดวงอาทิตย์ เพราะชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้กับโลกมากที่สุดกำลังร้อนขึ้น ขณะที่ชั้นบรรยากาศที่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุดคือชั้นสตราโตสเฟียร์กำลังเย็นลง

 

ความร้อนที่ปกติจะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ กำลังถูกกักไว้ด้วยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ อย่างคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากการกระทำของมนุษย์

 

ถ้าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบนโลกเกิดจากดวงอาทิตย์ ชั้นบรรยากาศทั้งหมดก็น่าจะที่ร้อนขึ้น (หรือเย็นลง) พร้อม ๆ กัน

 

ข้อกล่าวอ้าง : โลกร้อนเป็นเรื่องดี

ข้อความหลายโพสต์ที่มีการส่งต่อกันทางออนไลน์อ้างว่า โลกร้อนจะทำให้หลายพื้นที่ของโลกมีสภาพเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งชีวิตมากขึ้น และสรุปว่า ความหนาวเย็นทำให้มีคนเสียชีวิตมากกว่าความร้อน

 

ผู้ที่อ้างข้อโต้แย้งเหล่านี้มักจะเลือกเฉพาะข้อเท็จจริงที่ดีและสนับสนุนความเชื่อนี้มาบางส่วน แต่เพิกเฉยข้อมูลอื่น ๆ ที่ขัดแย้งกับความเชื่อของพวกเขา

 

ยกตัวอย่าง เป็นความจริงว่าหลายพื้นที่ในโลกมีความหนาวเย็นมากจนไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอาจทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตสักช่วงเวลาหนึ่ง แต่อากาศที่ร้อนขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ ก็อาจจะนำไปสู่การเกิดฝนตกรุนแรง ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่และความสามารถในการเพาะปลูกพืชได้เช่นกัน

 

แต่ขณะเดียวกัน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้หลายพื้นที่ของโลกกลายเป็นที่ที่ไม่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างเช่นมัลดีฟส์ ซึ่งเป็น ประเทศที่อยู่ต่ำที่สุดในโลก

อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็นลดลง จากการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารแลนเซ็ต (Lancet) ระหว่างปี 2000-2019 เป็นความจริงที่ว่ามีคนเสียชีวิตจากสภาพอากาศหนาวเย็นมากกว่าอากาศร้อน

 

แต่มีการคาดการณ์ว่า การเสียชีวิตที่เกี่ยวกับอากาศร้อนก็จะเพิ่มมากขึ้นพอ ๆ กับการลดลงของผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศเย็น

 

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change--IPCC) ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า โดยรวมแล้ว "คาดว่าความเสี่ยงอันเนื่องจากสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ [และ] ชีวิตความเป็นอยู่...จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส" ข้อดีเล็ก ๆ น้อยๆ ที่เป็นผลจากจำนวนวันที่หนาวเย็นที่ลดลงนั้นเทียบไม่ได้กับความเสี่ยงต่อสภาพอากาศร้อนอย่างรุนแรงที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น

 

ข้อกล่าวอ้าง : การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ผู้คนยากจนลง

ผู้ที่ต่อต้านความพยายามในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมักจะเห็นตรงกันว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลมีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนและสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ดังนั้นการจำกัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อลดโลกร้อน จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อคนที่ยากจนที่สุด

 

แต่นี่ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด

เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานที่ขับเคลื่อนยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้มนุษย์ผลิตสิ่งต่าง ๆ ในปริมาณและอัตราเร็วที่ไม่เคยทำได้มาก่อนในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้ผู้คนผลิต ซื้อและขายสิ่งของต่าง ๆ มากขึ้น และมีฐานะร่ำรวยขึ้น

 

แต่การหยุดการใช้ถ่านหินไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เรากลับไปสู่ยุคที่ต้องใช้เกวียนหรือเครื่องจักรที่ต้องใช้มือหมุน เพราะตอนนี้เรามีเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในระดับเดียวกัน

ในหลายพื้นที่ ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังมีราคาถูกลงกว่าไฟฟ้าที่มาจากถ่านหิน น้ำมัน หรือแก๊ส

 

นอกจากนี้ ผลการศึกษาหลายชิ้นระบุตรงกันว่า ถ้าเราไม่ลงมือดำเนินการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกภายในปี 2050 เศรษฐกิจโลกอาจหดตัวลง 18% เนื่องจากความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และอุณหภูมิที่ร้อนจัดจะสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ชีวิต ธุรกิจและการผลิตอาหาร

 

คนที่ยากจนที่สุดจะได้รับผลกระทบรุนแรงสุดจากสิ่งเหล่านี้

ข้อกล่าวอ้าง : พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถพึ่งพาได้

ข้อกล่าวอ้างที่ว่า ความล้มเหลวของพลังงานหมุนเวียนนำไปสู่ปัญหาไฟดับกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียช่วงที่เกิดเหตุสายส่งกระแสไฟฟ้าขัดข้องทำให้เกิดไฟดับเป็นวงกว้างในรัฐเทกซัสของสหรัฐฯ ประชาชนหลายล้านคนต้องอยู่ในความมืดและเผชิญกับความหนาวเย็น

 

สื่อหลายสำนักในสหรัฐฯ นำข้อมูลจากโพสต์เหล่านี้ไปรายงานโดยอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ปัญหาไฟดับมาจากกังหันลม

 

"ไฟดับเป็นผลมาจากการบริหารจัดการด้านการจ่ายกระแสไฟและการผลิตไฟที่ย่ำแย่" จอห์น กลูยาส ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันพลังงานเดอรัม กล่าว

 

เขาบอกว่า ข้อกล่าวอ้างที่ว่า พลังงานหมุนเวียนทำให้เกิดปัญหาไฟดับ "เป็นเรื่องไร้สาระ...เวเนซุเอลา มีน้ำมันมหาศาลแต่ก็ยังเกิดปัญหาไฟดับบ่อยครั้ง"

เจนนี คิง จากไอเอสดี โกลบอล (ISD Global) ระบุว่า การทำลายความน่าเชื่อถือของพลังงานหมุนเวียนเช่นนี้ คือ "ข้อความโจมตีของคนที่ต้องการจะให้มีการพึ่งพาการใช้ หรือสนับสนุนการใช้น้ำมันและแก๊สต่อไป"

 

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการพลังงานหมุนเวียนอ้างด้วยว่า เทคโนโลยีนี้ทำให้นกและค้างคาวตายจำนวนมาก โดยเพิกเฉยต่อผลการศึกษาที่ประเมินว่า โรงงานไฟฟ้าที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้สัตว์ล้มตายมากกว่าหลายเท่าตัว

 

จริงอยู่ว่ามีสัตว์ป่าบางชนิด รวมถึงนกต่าง ๆ ตายเพราะกังหันลม แต่สถาบันวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน หรือ LSE ระบุว่า "องค์กรการกุศลด้านการอนุรักษ์หลายแห่งเห็นว่า ข้อดีต่อสัตว์ป่าที่เกิดจากการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ...มีมากกว่าความเสี่ยง หากมีการวางแผนคุ้มครองอย่างเหมาะสมรวมถึงการคัดเลือกที่ตั้งอย่างรอบคอบ"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง