รีเซต

กองทัพพายุกับอภิมหาทอร์นาโดถล่ม 6 รัฐอเมริกา จนราบเป็นหน้ากลอง

กองทัพพายุกับอภิมหาทอร์นาโดถล่ม 6 รัฐอเมริกา จนราบเป็นหน้ากลอง
TNN ช่อง16
13 ธันวาคม 2564 ( 12:38 )
197

เหตุใดทอร์นาโดจึงมีความรุนแรงขึ้น และเกิดอะไรขึ้นกับการเตรียมรับมือ ไปหาคำตอบกัน


ช่วงวันที่ 10-11 ธันวาคมที่ผ่านมา ทอร์นาโดพลังทำลายล้างหลายลูกพัดถล่ม 6 รัฐของสหรัฐฯ คือ อาร์คันซอ มิสซิสซิปปี มิสซูรี เคนทักกี เทนเนสซี และอิลลินอยส์ จนมีผู้เสียชีวิตเกือบนับร้อย และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างไปหลายร้อยไมล์


---สุดสัปดาห์มรณะ กับอภิมหาทอร์นาโด---


The Conversation รายงานว่า มีรายงานทอร์นาโดรวมอย่างน้อย 38 ลูกที่พัดถล่มทั้งหกรัฐ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หน่วยบริการด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ มีการจัดระดับความรุนแรงของทอร์นาโด โดยมีดัชนีชี้วัดความเสียหาย 28 ตัวของ EF โดย EF-5 คือระดับที่รุนแรงสุด ที่มีความเร็วมากกว่า 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นต้นไป


ทางการสหรัฐฯ อยู่ระหว่างวัดระดับความรุนแรงของทอร์นาโดทั้งหมด แต่ ณ จนถึงวันที่ 12 ธันวาคม การชี้วัดพบว่า มีทอร์นาโดระดับ EF-3 อย่างน้อยสี่ลูก และ EF-2 ห้าลูก


ระดับ EF-2 และ EF-3 นั้นถือว่าเป็นพายุที่รุนแรง ด้วยความเร็ว 180 – 251 และ 252 – 329 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามลำดับ


ปกติแล้ว ทอร์นาโดส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ และเดินทางได้สั้น เฉลี่ยที่ราว 4.8 – 6.4 กิโลเมตร การที่ทอร์นาโดสามารถเคลื่อนที่ไปได้ยาวขึ้น และนานขึ้น ระหว่าง 40 – 160 กิโลเมตรนั้นถือว่า ไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก คิดเป็นน้อยกว่า 1% ของทอร์นาโดที่เกิดในสหรัฐฯ


แต่ในครั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ทอร์นาโดลูกหนึ่งสามารถเคลื่อนไปได้ไกลถึง 384 กิโลเมตร ผ่านสี่รัฐ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะทอร์นาโดลูกดังกล่าว จะทำลายสถิติของ “Quad-State Tornado” ที่เกิดขึ้นในปี 1925 และเคลื่อนไปไกลถึง 350 กิโลเมตร ผ่านสามรัฐ


---ทอร์นาโดเปลี่ยนทิศ---


CNN รายงานว่า ผลการศึกษาพบว่า ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดทอร์นาโดถี่ขึ้นในแถบมิดเวสต์และตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ แต่กลับน้อยลงในแถบตอนกลาง และ Great Plains ตอนใต้ ซึ่งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็น “ร่องทอร์นาโด”


ผลการศึกษาบางชิ้นยังพบว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้ร่องทอร์นาโดขยับไปทางตะวันออกมากขึ้น และจะทำให้เกิดทอร์นาโดในพื้นที่ที่มีคนอาศัยหนาแน่น ตามฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี ดังที่เกิดในครั้งนี้


---ทอร์นาโดฤดูหนาวปกติหรือไม่?---


ปกติทอร์นาโดจะเกิดขึ้นภายใต้สภาพอากาศเฉพาะเจาะจง แต่หลัก ๆ แล้ว ก่อตัวจากลมร้อนและลมเย็นมาเจอกันและก่อตัวให้เกิดลมหมุน จนทำให้เกิดลำอากาศเป็นเกลียวตั้งสูงขึ้นไปในท้องฟ้า


ฤดูกาลของทอร์นาโดคือฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาใดของปีก็ได้เช่นกัน โดยเฉพาะที่รัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักเกิดทอร์นาโดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงหรือต้นฤดูหนาว ดังนั้น ทอร์นาโดฤดูหนาว จึงไม่ได้ผิดปกติมากนัก


นอกจากนี้ ทอร์นาโดยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดของวันก็ได้ การเกิดทอร์นาโดในช่วงกลางคืนในแถบตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นเรื่องปกติเช่นกัน เพราะส่วนประกอบของทอร์นาโดนั้นแตกต่างและนำไปสู่การเกิดทอร์นาโดในตอนกลางคืน ได้มากกว่า ทอร์นาโดที่เกิดขึ้นตามแนวร่องทอร์นาโดในพื้นที่ทางตอนกลางของประเทศ หรือ Great Plains


---สหรัฐฯ แจ้งเตือนทอร์นาโดบ่อย แต่ทำไมยังสูญเสียมาก---


โดยปกติแล้ว ศูนย์พยากรณ์อากาศสหรัฐฯ และของท้องถิ่น สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ ว่าจะเกิดทอร์นาโดขนาดใหญ่ จึงทำให้สามารถแจ้งเตือนและให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้ดูแลความปลอดภัยของตนเองได้


อย่างไรก็ตาม ทอร์นาโดที่เกิดกลางคืนนั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้มากกว่า และทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า เพราะผู้คนมักไม่ได้รับข้อมูลเตือนขณะนอนหลับ นอกจากนี้ การสังเกตเห็นพายุในตอนกลางคืนก็ค่อนข้างยาก


พายุที่มาตอนกลางคืนมักทำอันตรายต่อผู้คนมากกว่า โดยเฉพาะคนที่นอนในบ้านที่ไม่แข็งแรง เช่น รถบ้าน จึงทำให้มีความสูญเสียมากกว่าพายุที่เกิดตอนกลางวัน ที่พวกเขาเหล่านี้ ไปทำงานตามอาคารที่มีความแข็งแรง จึงทำให้ความสูญสัยไม่มากเท่ากลางคืน


ยิ่งไปกว่านั้น การได้รับคำเตือนในช่วงกลางคืนยังเผชิญอุปสรรคด้วย เพราะไฟฟ้าอาจดับ และสัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถใช้การได้ในช่วงที่สภาพอากาศรุนแรง


มีรายงานว่า ผู้คนจำนวนมากเสียชีวิต หลังทอร์นาโดถล่มอาคารที่พวกเขาไปพัก แต่หากมีการเตือนที่ทันการณ์ก็จะทำให้พวกเขาสามารถไปอยู่ในอาคารที่ปลอดภัยที่มีฐานรากหรือชั้นใต้ดินที่มั่นคงได้ทัน


---สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ต้นเหตทอร์นาโดรุนแรง?---


สำนักข่าว AFP รายงานว่า นักอุตุนิยมวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ต่างเตือนมานานแล้ว ว่าจะเกิดสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งอายุ ไฟป่า และน้ำท่วม


ขณะที่ดีอาน คริสเวลล์ หัวหน้าสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลางของสหรัฐฯ หรือ FEMA กล่าวกับ CNN ว่า เรื่องนี้กำลังกลายเป็น New Normal ผลกระทบที่เรากำลังได้เห็นจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คือวิกฤตของคนรุ่นเรา


นอกจากนี้ เธอยังเตือนถึงความท้าทายที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญ เพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น เพราะสหรัฐฯ จะเจอกับพายุที่แรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเฮอร์ริเคน ทอร์นาโด หรือไฟป่า


ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า กลุ่มพายุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เหมือนจะเป็นหนึ่งในทัพทอร์นาโดที่ใหญ่สุดของประวัติศาสตร์สหรัฐฯ


แม้ว่า ไบเดนย้ำว่า ผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงต่อการเกิดทอร์นาโดรอบนี้ยังไม่ชัดเจน แต่พวกเรารู้ดีกว่า ทุกอย่างมันจะรุนแรงขึ้น เมื่ออากาศอุ่นขึ้น


ขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ฟันธงอย่างแรงกล้าว่าพายุที่รุนแรงขึ้น เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แต่พวกเขาเห็นพ้องว่า หลักฐานกำลังชี้ไปเช่นนั้น จากการศึกษา เช่น ผลรายงานขององค์กรด้านวิทยาศาสตร AGU ระบุว่า อุณหภูมิโลกที่อุ่นขึ้นนั้นจะส่งผลให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการเกิดสภาพอากาศที่รุนแรงได้

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: NOAA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง