รีเซต

จีน-รัสเซีย เดินหนีวิกฤตโลกร้อน? ไบเดนตำหนะแรง ขณะที่สื่อวิจารณ์ ผู้นำโลกจะลดโลกร้อน แต่มาเจ็ตส่วนตัว

จีน-รัสเซีย เดินหนีวิกฤตโลกร้อน? ไบเดนตำหนะแรง ขณะที่สื่อวิจารณ์ ผู้นำโลกจะลดโลกร้อน แต่มาเจ็ตส่วนตัว
TNN ช่อง16
3 พฤศจิกายน 2564 ( 11:23 )
45
จีน-รัสเซีย เดินหนีวิกฤตโลกร้อน? ไบเดนตำหนะแรง ขณะที่สื่อวิจารณ์ ผู้นำโลกจะลดโลกร้อน แต่มาเจ็ตส่วนตัว

ในเวทีประชุมสุดยอดว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าว ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “เป็นปัญหาระดับใหญ่ยักษ์” แต่จีนกลับ “เดินหนี” ทั้ง ๆ ที่จีนพยายามอ้างตัวว่า มีบทบาทใหม่ในโลกในฐานะผู้นำโลกประเทศหนึ่ง และการที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน ไม่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ถือเป็น “ความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง”


นอกจากนี้ ไบเดนยัง กล่าวตำหนิรัสเซียและประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียด้วย และระบุว่า ไฟกำลังไหม้ป่าไม้ของรัสเซีย แต่ผู้นำรัสเซียกลับนิ่งเงียบในประเด็นปัญหานี้


ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีไบเดน ยังกล่าวถึงประเด็นขัดแย้งกับจีนว่า เขาไม่ได้รู้สึกกังวล เกี่ยวกับความขัดแย้งทางด้านอาวุธกับจีน และเขาขอพูดชัดเจนว่า นี่คือการแข่งขัน เขาไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้คือความขัดแย้ง


◾◾◾

🔴 จีน-รัสเซีย ส่งคนร่วมประชุมแทน


ทั้งนี้ ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ไม่ได้เข้าร่วมประชุม COP26 ที่มีผู้นำโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 120 คน ด้วยตนเอง แต่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมแทน ทั้งจีนและรัสเซียได้ร่วมลงนามในคำประกาศของที่ประชุม COP26 ครั้งนี้ ว่าด้วยการยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030


ทั้งจีนและรัสเซียได้แจ้งต่อเจ้าภาพตั้งแต่เดือนตุลาคม ว่าผู้นำของตนจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว รัสเซียไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไม ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศนับตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว


แม้จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ออกแถลงการณ์ในการประชุมครั้งนี้ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงให้จริงจังกว่านี้ และเขายังเน้นย้ำว่า เป็นความรับผิดชอบของชาติพัฒนาแล้วในการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และต้องช่วยเหลือชาติกำลังพัฒนาอื่น ๆ


พร้อมกับระบุว่า จีนจะเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว และมุ่งไปสู่การใช้พลังงานสีเขียว พัฒนาพลังงานหมุนเวีบน รวมทั้งวางแผนสร้างสถานีไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่


ก่อนหน้านี้ จีนได้เผยแผนปฏิบัติงาน ซึ่งระบุว่าจีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดภายในปี 2030 และจะสามารถเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2060


ขณะที่ประธานาธิบดีปูตินยัง ได้กล่าวผ่านทางออนไลน์เมื่อวานนี้ (2 พฤศจิกายน) ต่อที่ประชุมย่อยว่าด้วยการบริหารจัดการป่าไม้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม COP26 ว่า รัสเซียได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดกวดขันที่สุดในการดูแลป่าไม้


◾◾◾

🔴 5 ชาติปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด


สำนักข่าว BBC ระบุว่า จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก ตามด้วยอันดับ 2 คือสหรัฐฯ อันดับ 3 สหภาพยุโรป หรือ EU อันดับ 4 อินเดีย และอันดับ 5 รัสเซีย


ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี ไบเดน ได้กล่าวคำขอโทษต่อผู้นำโลกกรณีที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงโลกร้อน และกล่าวว่า การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะเป็นการส่งเสริม ไม่ใช่การทำลายเศรษฐกิจ เขาให้คำมั่นว่า สหรัฐฯจะเป็นผู้นำ “ลงมือทำ ไม่ใช่ดีแต่พูดอย่างเดียว”


ล่าสุด ไบเดนเดินทางออกจากเมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร สถานที่ประชุม COP26 แล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา (2 พฤศจิกายน) ตามเวลาท้องถิ่น แต่การประชุม COP26 จะยังคงดำเนินต่อไป โดยจะใช้เวลานาน 2 สัปดาห์ ไปสิ้นสุดในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้


◾◾◾

🔴 ผลสำเร็จในที่ประชุม COP26 ตอนนี้


ผลที่ได้จากการประชุม COP26 ผู้นำโลกมากกว่า 120 คน ให้คำมั่นว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าและหันไปฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดินภายในสิ้นทศวรรษนี้ โดยมีการทุ่มงบประมาณมากถึง 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 630,000 ล้านบาททั้งจากภาครัฐและเอกชน ในการลงทุนเพื่อปกป้องและฟื้นฟูป่าไม้


สำนักข่าวรอยเตอรส์รายงานว่า เกือบ 90 ประเทศได้เข้าร่วมในข้อตกลง Global Methane Pledge ที่นำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2030 จากระดับการปล่อยในปี 2020 ซึ่งข้อตกลงนี้ มีเป้าหมายจัดการ หนึ่งในตัวการหลักของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือก๊าซมีเทน


ก๊าซมีเทน คือก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ซึ่งดักจับความร้อนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ และสลายตัวในชั้นบรรยากาศของโลกได้รวดเร็ว ดังนั้นการลดปล่อยก๊าซมีเทน จะมีผลต่อการควบคุมภาวะโลกร้อน


◾◾◾

🔴 ลดโลกร้อน แต่มาเจ็ตส่วนตัว


อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีลูอิส อาร์เซ ของโบลิเวีย ประณาม “ลัทธิจักรวรรดินิยมคาร์บอนใหม่” และตำหนิชาติร่ำรวยระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในเวที COP26 โดยเขาวิจารณ์ชาติพัฒนาแล้วว่า กำลังใช้กระบวนการล่าอาณานิคมอีกครั้ง ผ่าน “New Carbon Colonialism” เพราะชาติเหล่านี้ พยายามตั้งกฎกติกา ป้อนระบบทุนนิยมสีเขียวใหม่ และบังคับให้ชาติกำลังพัฒนาต้องปฏิบัติตามกฎเหล่านี้โดยไม่มีทางเลือกอื่น


ขณะที่ Daily Mail รายงานว่า ในการประชุม COP26 แก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก เหล่าผู้เข้าร่วมการประชุมกลับเดินทางกันมาด้วยเจ็ตส่วนตัว สร้างคาร์บอน-ก๊าซเรือนกระจก โดย Daily Mail ระบุว่า เห็นเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวอย่างน้อย 52 ลำลงจอดที่กลาสโกว์


นอกจากผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่ให้คำมั่นว่าจะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ภาคเอกชนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ


เจฟฟ์ เบโซส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Amazon.com และเจ้าของบริษัทขนส่งอวกาศเอกชน ‘Blue Origin’ ที่ให้คำมั่นว่า จะบริจาคเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 64,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูธรรมชาติ ในการประชุมครั้งนี้ด้วย


และระบุว่า Bezos Earth Fund ที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์จะมอบทุนจำนวน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯแก่นักวิทยาศาสตร์ นักเคลื่อนไหว และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในแอฟริกา


เขาเสริมว่า Amazon มีเป้าหมายที่จะปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2040 และเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนในปฏิบัติการทั้งหมด ภายในปี 2025 รวมทั้งเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการจัดส่งทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง