เปิดฉากการประชุมโลกร้อน COP26 ความหวังสุดท้ายมวลมนุษยชาติ?
COP26 ครั้งนี้ บรรดาผู้นำชาติต่าง ๆ มากกว่า 100 คน จะได้พบกันแบบเจอตัวและเจรจากันอย่างเข้มข้นในวันจันทร์ (1 พฤศจิกายน) และอังคาร (2 พฤศจิกายน) นี้ เพื่อผลักดันให้โลกมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นในการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่สุดของมวลมนุษยชาติ
มีทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ, ผู้นำชาติ EU, นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย, นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ รวมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วม
นอกจากนี้ ยังมีระดับผู้แทนของอีกเกือบ 200 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมในระยะสองสัปดาห์นี้ด้วย เพื่อให้โลกบรรลุข้อตกลงในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตสีเขียวและสะอาดขึ้น โดยมีเป้าหมายว่า โลกต้องควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเพดานที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2015 ในข้อตกลงปารีส
อโลก ชาร์มา ประธาน COP26 กล่าวในพิธีเปิดการประชุมเมื่อวันอาทืตย์ที่ผ่านมาว่า "COP26 คือความหวังสุดท้ายที่ดีที่สุดของเราแล้วในการรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 เซลเซียสให้ได้”
◾◾◾
🔴 "สภาพอากาศรุนแรงหลายเป็นนิวนอร์มอล"
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ออกรายงานเกี่ยวกับสถานะของสภาพอากาศที่ชื่อว่า The State of the Climate report for 2021 ซึ่งเน้นย้ำว่า โลกกำลังเปลี่ยนต่อหน้าต่อตาเรา
WMO ระบุว่า สภาพอากาศที่รุนแรง เช่น คลื่นความร้อนจัดและน้ำท่วมใหญ่ ได้กลายเป็น “new normal” ไปแล้ว
รายงานพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ย 20 ปี นับจากปี 2002 กำลังอยู่ในเส้นทางที่จะเกิน 1 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก รายงานยังเผยสถานการณ์อากาศที่เลวร้ายและรุนแรงแบบไม่ปกติในปีนี้ด้วย เช่น
- ฝนตกมากกว่าหิมะ เป็นครั้งแรก ทำสถิติที่ยอดของแผนน้ำแข็งกรีนแลนด์
- เกิดคลื่นความร้อนที่แคนาดาและบางพื้นที่ของสหรัฐฯ อากาศร้อนจัดเกือบแตะ 50 องศาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของรัฐบริทิช โคลัมเบีย
- Death Valley ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ร้อนถึง 54.4 เซลเซียสในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน
- จีนเกิดฝนตกหนักมากเป็นประวัติการณ์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ปริมาณฝนเทียบเท่ากับหลายเดือน
- หลายพื้นที่ของยุโรปเผชิญน้ำท่วมรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล
- เกิดภัยแล้งติดต่อกันเป็นปีที่สองในบางพื้นที่ของอเมริกาใต้ ทำให้ปริมาณนี้ที่ลงสู่พื้นที่ล่มแม่น้ำลดลง ส่งผลต่อการเกษตร การขนส่ง และการผลิตพลังงาน
- ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยระหว่างปี 2013 – 2021 ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 4.4 มิลลิเมตร สูงขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ ช่วงปี 1993 – 2002 ที่เพิ่มขึ้น 2.1 มิลลิเมตร ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงเกินสองเมตรภายในปี 2100 และจะทำให้คนราว 630 ล้านคนทั่วโลกต้องพลัดถิ่นฐาน
อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า โลกกำลังเปลี่ยนต่อหน้าต่อตาเรา จากก้นลึกของมหาสุทรไปถึงยอดภูเขาสูง จากธารน้ำแข็งที่ละลายมาสู่สภาพอากาศรุนแรงที่ไม่หยุดหย่อน ระบบนิเวศน์และชุมชนทั่วโลกกำลังเผชิญกับหายนะ
"COP26 ต้องเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับผู้คนและโลกได้แล้ว”
◾◾◾
🔴 เปิดผู้เล่นสำคัญในการประชุมโลกร้อน COP26
กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC นั้นมี 197 ประเทศร่วมลงนาม แต่ก็ยังมีความท้าทายว่าทุกประเทศจะสามารถบรรลุฉันทามติในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศร่วมกันได้อย่างไร
1. จีน
ขณะนี้ จีนคือผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่สุดของโลก การกระทำของจีนในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นตัวตัดสินว่า โลกจะสามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องการลดโลกร้อนได้หรือไม่
เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศแผนว่าจีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดในปี 2030 และจะสามารถเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2060 จีนยังให้คำมั่นว่าจะระงับการสนับสนุนโครงการถ่านหินในต่างประเทศ และจะเริ่มลดการใช้ถ่านหินภายในประเทศในปี 2026
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาการขาดแคลนพลังงานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เชี่ยวชาญของจีนเริ่มถกกันว่า จีนอาจยังไม่พร้อมที่จะเคลื่อนไหวอย่างแข็งกร้าวในการแก้ปัญหาโลกร้อน
2. สหรัฐฯ
ในขณะนี้ สหรัฐฯคือผู้ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเป็นอันดับสองของโลก แต่ ตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยรวมแล้ว สหรัฐฯคือผู้ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด
ในปีนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจนำสหรัฐฯกลับเข้าสู่การประชุมโลกร้อน หลังอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ไบเดนให้คำมั่นว่า ภายในปี 2030 สหรัฐฯจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ราว 50-52% จากระดับที่ปล่อยในปี 2005
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกลับเผขิญกระแสต้านในสภาคองเกรส ปัญหาเหล่านี้ในบ้านจะเป็นอุปสรรคสำหรับสหรัฐฯในการผลักดันให้จีน อินเดีย และบราซิล ทำอะไรมากกว่านี้
3. สหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักร เจ้าภาพการประชุม COP26 หวังว่า การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการทำพลังงานถ่านหินให้กลายเป็นอดีตไป ก่อนหน้านี้ สหราชอาณาจักรประกาศว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และต่อมายังประกาศว่า ภายในปี 2035 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 78% เมื่อเทียบกับระดับปี 1990
4. สหภาพยุโรป
สหภาพยุโรป ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 8% ของโลก โดย EU ตั้งเป้าหมายใหม่ว่าจะลดการปล่อยก๊าซลงอย่างน้อย 55% จากระดับของปี 1990 ให้ได้ภายในปี 2030 และปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2050
คาดว่าปีนี้ EU จะผลักดันให้ที่ประชุม COP26 ออกกฎระเบียบให้นานาประเทศตั้งเป้าหมายที่เข้มข้นกว่านี้ทุกๆห้าปี
5. กลุ่มประเทศพัฒนาน้อย หรือ LDCs
LDCs มีสมาชิกคือประเทศยากจนที่สุด 46 ประเทศแต่มีประชากรรวมกันหนึ่งพันล้านคน อยู่ในแอฟริกา เอเชียแปซิฟิก และแคริเบียน ซึ่งเป็นประเทศเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งๆที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยสุด
คาดว่ากลุ่ม LDCs จะผลักดันให้กลุ่มชาติร่ำรวยต้องทำตามพันธะสัญญาในการจัดสรรงบประมาณปีละหนึ่งแสนล้านดอลลาร์เพื่อช่วยชาติกำลังพัฒนาในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มชาติร่ำรวย ยังไม่สามารถทำตามเป้าหมายนี้ได้
6. กลุ่มประเทศทั่วไป
บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย และจีน อยู่ในกลุ่มดังกล่าว จึงทำให้กลุ่มนี้มีประชากรรวมกันมากที่สุดและมีเศรรษฐกิจที่กำลังพัฒนา จึงทำให้มีการสร้างมลพิษมาก แต่ละประเทศเรียกร้องให้กลุ่มชาติร่ำรวยจัดสรรงบรับมือโลกร้อนให้มากกว่าเดิม และเรียกร้องให้ใช้หลักการของความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่า ชาติร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมาก ต้องรับผิดชอบต่อปัญหานี้มากกว่าชาติอื่นๆ
—————
เรื่อง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: ALAIN JOCARD / AFP