รีเซต

รวมสถิติภาวะโลกร้อน กับหายนะทางธรรมชาติทั่วโลกปีนี้

รวมสถิติภาวะโลกร้อน กับหายนะทางธรรมชาติทั่วโลกปีนี้
TNN ช่อง16
14 ธันวาคม 2564 ( 11:28 )
118

สำนักข่าว Reuters รวบรวมเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนของปีนี้ ซึ่งรุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว


---เปิดปีก็หนาวจัด คนตายเป็นร้อย---


เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธุ์ สภาพอากาศหนาวเย็นแผ่ปกคลุมรัฐเทกซัส ที่ปกติอากาศจะร้อน คร่าชีวิตผู้คนในรัฐนี้ไป 125 ราย และประชาชนหลายล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ ในสภาพอากาศที่หนาวเย็นอยู่จุดเยือกแข็ง


นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน เป็นสาเหตุให้เกิดสภาพอากาศวิปริตรุนแรงครั้งนี้หรือไม่ แต่อากาศที่อุ่นขึ้นในแถบขั้วโลกเหนือ กำลังเป็นสาเหตุให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลกเกินคาดเดาได้


---ตั๊กแตนบุกทำลายพืชผลในแอฟริกา---


เคนยาและหลายพื้นที่ของแอฟริกาตะวันออก ต้องเผชิญหน้ากับฝูงตั๊กแตนทำลายพืชผลทางการเกษตรครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี พวกมันทำลายล้างพืชผลและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์


นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า รูปแบบสภาพอากาศที่ผิดปกติ ถูกเร่งให้เร็วขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมในการทำให้แมลงต่าง ๆ เจริญเติบโตได้ดี


---เดือนมีนาคม แห่งพายุทราย---


ท้องฟ้าเหนือกรุงปักกิ่ง แปรเปลี่ยนเป็นสีส้ม และเที่ยวบินโดยสารต้องจอดแช่อยู่ที่สนามบินระหว่างการเกิดพายุทรายครั้งเลวร้ายที่สุดในเมืองหลวงของจีน ในรอบ 10 ปี


ในแต่ละปี จะมีอาสาสมัครจำนวนมาก พากันเดินทางเข้าไปปลูกต้นไม้ในทะเลทรายเพื่อทำให้ดินมีเสถียรภาพและให้ต้นไม้ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการป้องกันกระแสลม นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้พื้นที่ต่าง ๆ แปรสภาพเป็นทะเลทรายรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากฤดูร้อนที่ร้อนขึ้นและฤดูหนาวที่แห้งแล้งจะลดระดับความชื้นลง


---เดือนมิถุนายน แห่งภัยแล้ง---


เกือบทุกรัฐทางตะวันตกของสหรัฐฯ เผชิญภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 เกษตรกรต้องทิ้งผลผลิต เจ้าหน้าที่รัฐต้องประกาศมาตรการฉุกเฉิน และอ่างเก็บน้ำ ฮูเวอร์แดม ก็แห้งขอดเหลือปริมาณน้ำน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์


รัฐสภาสหรัฐฯ ยืนยันในเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ในช่วง 20 เดือนก่อนหน้า รัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ ประสบปัญหามีฝนตกน้อยที่สุดในรอบกว่า 100 ปี และเชื่อมโยงภัยแล้งกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ


ในเดือนเดียวกันนี้ ก็มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนระหว่างการเกิดคลื่นความร้อนทำสถิติรุนแรงที่สุดในสหรัฐฯและทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกของแคนาดา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สรุปแล้วว่า “แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย” ที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ


ในช่วงหลายวันของการเกิดคลื่นความร้อนรุนแรง สายไฟถึงกับละลาย และถนนหลายสายทรุดตัว หลายเมืองที่พยายามต่อสู้กับความร้อน เปิดศูนย์ทำความเย็นเพื่อช่วยคลายร้อนให้ประชาชน ซึ่งในระหว่างการเกิดคลื่นความร้อน เมืองพอร์ทแลนด์ รัฐออริกอน อุณหภูมิทำสถิติสูงสุดตลอดกาล 46.7 องศาเซลเซียส


---เดือนกรกฎาคม แห่งอุทกภัย---


เกิดน้ำท่วมครั้งหายนะ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คนในมณฑลเหอหนาน ภาคกลางของจีน ฝนตกหนักเลวร้ายที่สุดในหนึ่งปี ตกเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น ก็ทำให้เกิดหายนะรุนแรง


ขณะเดียวกัน ในยุโรป ก็มีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน จากฝนตกหนักน้ำท่วมเยอรมนี, เบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดน้ำท่วมมากกว่าปกติถึง 20%


ทั้งคลื่นร้อนทั้งภัยแล้งรุนแรงทำสถิติในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ใน 2 รัฐ คือแคลิฟอร์เนียและออริกอน เผาผลาญอาคารบ้านเรือนประชาชน และถือเป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของทั้งสองรัฐ


นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเกิดไฟป่าถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น เป็นผลมาจากภัยแรงที่ยืดเยื้อยาวนาน และอากาศร้อนจัดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ


นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกาใต้ ก็กำลังประสบภัยแล้งยืดเยื้อ โดยชิลีเจอภัยแล้งครั้งใหญ่ต่อเนื่องนานนับสิบปี เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับปัญหาโลกร้อน และในปีนี้ บราซิลเองก็เจอภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ส่วนอาร์เจนตินา แม่น้ำปารานา ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอเมริกาใต้ ระดับน้ำต่ำสุดตั้งแต่ปี 1944 หรือในรอบ 77 ปี

ทั่วโลก การเกิดคลื่นความร้อนทั้งถี่และรุนแรงขึ้น


---เดือนสิงหาคม แห่งมหาอุทกภัย---


ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ฤดูร้อนที่ร้อนและแห้ง กลายเป็นเชื้อทำให้เกิดไฟป่ารุนแรง ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนในแอลจีเรีย, กรีซ และตุรกี โดยไฟป่า ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไป 2 คนในกรีซ และอย่างน้อย 65 คนในแอลจีเรีย ที่เกิดขึ้นท่ามกลางคลื่นความร้อนรุนแรง และสถานที่บางแห่งในกรีซ อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 46 องศาเซลเซียส


ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ธารน้ำแข็งเกือบทุกแห่งในโลกใบนี้ กำลังละลายเนื่องจากภาวะโลกร้อน โดยในเทือกเขาแอลป์ พนักงานรีสอร์ทของสวิตเซอร์แลนด์ ถึงกับต้องใช้แผ่นอุปกรณ์ป้องกันคลุมธารน้ำแข็งบนยอดเขาทิตลิสในช่วงฤดูร้อนหลายเดือน เพื่อไม่ให้น้ำแข็งละลาย


สวิตเซอร์แลนด์ สูญเสียธารน้ำแข็งไปแล้ว 500 แห่ง และอาจต้องสูญเสียถึง 90% ของธารน้ำแข็ง 1,500 แห่งที่ยังเหลืออยู่ ภายในสิ้นสุดศตวรรษนี้ หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำลายชั้นบรรยากาศโลกยังเพิ่มสูงขึ้น


เฮอริเคน “ไอดา” ซึ่งพัดถล่มรัฐลุยเซียนา เป็นเฮอริเคนระดับ 4 มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 100 คนในสหรัฐฯ และสร้างความเสียหายคิดเป็นเงินประมาณ 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท จากข้อมูลของศูนย์ข้อมุลด้านสิ่งแวดล้อม สังกัดองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือเอ็นโอเอเอ (NOAA)


ขณะที่เศษเสี้ยวของเฮอริเคนไอดา เคลื่อนตัวอยู่ในแผ่นดินใหญ่ ก็ทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันทั่วพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือที่มีประชากรหนาแน่น เพิ่มตัวเลขผู้เสียชีวิตจากพายุมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เฮอริเคนเพิ่มกำลังแรงขึ้น


ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เฮอริเคนเคลื่อนตัวอยู่ในแผ่นดินใหญ่นานขึ้น ทำให้เกิดฝนตกมากขึ้นในพื้นที่ที่เฮอริเคนเคลื่อนผ่าน ผลการศึกษายังพบด้วยว่าเฮอริเคนเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นถี่ขึ้นในแอตแลนติกเหนือด้วย


---เดือนกันยายน แผ่นดินยุบ---


โครงสร้างพื้นฐานและอาคารบ้านเรือนในรัสเซียตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น เพราะชั้นดินเยือกแข็งคงตัวใต้ผืนดิน ละลาย และทำให้ดินที่อยู่ใต้ผืนดินผิดรูปร่าง ทั้งนี้ ชั้นดินเยือกที่เคยเป็นฐานการก่อสร้างที่มั่นคง ในหลายภูมิภาคยังคงเป็นน้ำแข็งจนถึงยุคน้ำแข็งยุคสุดท้าย แต่เมื่ออุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ก็เป็นภัยคุกคามต่อชั้นของน้ำแข็ง, ดิน, หิน, ทราย และอิทรียวัตถุ


---เดือนพฤศจิกายน น้ำท่วม-พายุเลวร้าย---


น้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 60 ปี ในซูดานใต้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนประมาณ 780,000 คน หรือ 1 ในทุก ๆ 14 คน จากข้อมูลของสำนักงานข้างหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ทุกปีซูดานใต้ก็ผ่านฤดูฝนไปได้ด้วยดี แต่กลับมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ทำสถิติเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันแล้ว นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ความเสียหายดูเหมือนจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น


นอกจากนี้ ยังเกิดพายุกำลังแรง ทำให้เกิดฝนตกหนักที่สุด 2 วัน วัดปริมาณน้ำฝนได้เท่ากับฝนตกหนึ่งเดือนในรัฐบริทิช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ส่งผลให้น้ำท่วมและดินถล่มทำลายถนน, ทางรถไฟและสะพานหลายแห่ง ดูเหมือนจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์แคนาดา แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะยังคงประเมินความเสียหายอยู่


เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาส กล่าวว่า ฝนตกหนักมาจาก "แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric river) หรือ กระแสของไอน้ำที่ไหลเวียนและพัดพาเอาความชุ่มชื้นไปทำให้เกิดพายุฝนในส่วนต่าง ๆ ของโลก และนักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ คาดว่าจะมีอานุภาพในการทำลายล้างใหญ่ขึ้นและรุนแรงขึ้นด้วยตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก


---ธันวาคม กับทัพทอร์นาโดถล่มสหรัฐฯ---


และล่าสุด ทอร์นาโดหลายลูกพัดถล่ม 6 รัฐในสหรัฐฯตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในรัฐเคนทักกี ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุด มีผู้เสียชีวิตรวมกันแล้ว 74 คน และยังสูญหายอยู่อย่างน้อย 109 คน แม้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ออกมาฟันธงว่าเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนหรือไม่ แต่ก็น่าจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



ข่าวที่เกี่ยวข้อง