รีเซต

โลกเดือด: “รักแล้งเดือนห้า” เพลงลูกทุ่งกับการเปรียบเปรย “หน้าแล้ง” ดั่ง “รักสิ้นลง”

โลกเดือด: “รักแล้งเดือนห้า” เพลงลูกทุ่งกับการเปรียบเปรย “หน้าแล้ง” ดั่ง “รักสิ้นลง”
TNN ช่อง16
3 พฤษภาคม 2567 ( 16:05 )
75

นอกเหนือจากความทุกข์ทางกายแล้ว “ความทุกข์ทางใจ” ย่อมเกิดขึ้นได้จากหน้าร้อนหรือหน้าแล้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอารมณ์ที่อาจจะไม่ปกติ หงุดหงิดง่าย มีความเครียดเพิ่มขึ้น หรือถึงขั้นก้าวร้าว พาลไปเสียสิ้น


อย่างไรเสีย ภัยแล้งนี้ ได้มีศิลปินนำมา “จับประเด็น” ในเพลงลูกทุ่ง อย่างไม่น่าเชื่อ เรียกว่าเป็นอีกมิติของอากาศร้อน ที่สอดประสานเข้ากับวัฒนธรรมคันทรีมิวสิกแบบไทย ๆ


ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็แห้งขอดคลอง


ต้องอธิบายก่อนว่า “เดือนห้า” สำหรับดินแดนขวานทอง (ไทย) ถือได้เป็นเดือนแล้งมาแต่นานนม ข้อสังเกตุหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หากเก็บน้ำผึ้ง ต้องเป็น “น้ำผึ้งเดือนห้า” เท่านั้น เพราะจะเป็นช่วงที่แล้งที่สุด น้ำผึ้งจะมีความชื้นน้อย ทำให้เข้มข้นมาก รสหอมหวานจึงเพิ่มตามไปด้วย


หรือในแง่ของสถิติ เมื่อพิจารณาจากรายงาน “สถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2494 - 2566” ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะพบว่า ในเดือนพฤษภาคม หากแบ่งกลุ่มตามภูมิภาค ทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดเทียบ แทบจะเทียบเท่ากับเดือนเมษายน อยู่ที่ 44.5 องศาเซลเซียส [เดือนเมษายน อยู่ที่ 44.6]


แต่เหตุผลที่พฤษภาคมหนักกว่าเมษายน คือเรื่อง “ภัยแล้ง” เพราะช่วงเดือนเมษายน แม้อากาศจะร้อนกว่าเล็กน้อย แต่น้ำยังเพิ่มเริ่มระเหย พอเข้าเดือนพฤษภาคม เรียกได้ว่า น้ำได้แห้งเหือดไปหมด


ดังนั้น ในไทยที่เป็นสังคมเกษตรกรรม การเข้าสู่เดือนพฤษภาคมจึงถือได้ว่าเป็น “ความระทม” อย่างแสนสาหัส 


ในภายหลัง ได้มีการทำวิจัยออกมามากมายเกี่ยวกับ “ผลกระทบของอุณหภูมิสูงต่อสุขภาพจิต” อาทิ High temperatures on mental health: Recognizing the association and the need for proactive strategies—A perspective ที่เสนอว่า “ยิ่งอุณหภูมิสูงมากเพียงใด ความกังวลใจและความรำคาญใจย่อมเกิดขึ้นมากตามไปด้วย” 


หรืองานศึกษา The Mental Health Outcomes of Drought: A Systematic Review and Causal Process Diagram ที่เสนอว่า “ภัยแล้งส่งผลต่อความกระวนกระวาย ความสับสน และความวิตกในชีวิตอย่างมีนัยยะสำคัญและสลับซับซ้อน”


ดังนั้น ความร้อนและภัยแล้งจึงได้รับการสร้างคำอธิบายหรือพิสูจน์ไปประมาณหนึ่งแล้วว่า ส่งผลต่อ “Mental Health” อย่างตรงไปตรงมา


ที่ไม่น่าเชื่อไปกว่านั้น คือการจับประเด็นความเกี่ยวพันทางจิตใจของภัยแล้งนี้ ไป “ประพันธ์เพลง” ที่เกี่ยวข้องกับ “ความรัก” อย่างไม่น่าเชื่อ


ดั่งหนุ่มคอยสาว เห็นทีจะเศร้าใจตาย


“การเปรียบเปรย (Metaphor)” ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการประพันธ์เพลง โดยเฉพาะ เพลงลุกทุ่ง ที่ใช้การเปรียบเปรยเรื่องความรักกับหลายสิ่งหลายอย่าง อาทิ ความรักเหมือนน้ำตาล ความรักเหมือนดอกไม้ ความรักเหมือนสัตว์ครองคู่ 


ส่วนเรื่องความรักที่ “ไม่สมหวัง” ก็มักจะเป็นการบรรยายความรู้สึกไปตรง ๆ ไม่ได้เปรียบเปรยอะไร


แต่ไม่ใช่กับ “ครูไพบูลย์ บุตรขัน” นักแต่งเพลงลูกทุ่งชื่อดังแห่งพุทธศตวรรษ 2500 ที่ได้“เล่นฉีก” นำภัยแล้งมาเปรียบเปรยกับความรักได้อย่างไม่น่าเชื่อ


เรื่องเริ่มต้นขึ้นจากการที่ ราว พ.ศ. 2514 “ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์” ต้องการที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ ที่ชื่อว่า “มนต์รักจากใจ” เพื่อตามรอยความสำเร็จทางด้านรายได้และการวิจารณ์จาก “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่ตนได้สร้างมาเมื่อปีก่อน [พ.ศ. 2513] 


มนต์รักจากใจ ทำออกมาแนว “ภาพยนตร์เพลง” คือมีการร้องเพลงเพื่อดำเนินเรื่อง เช่นเดียวกับมนต์รักลูกทุ่ง ที่ให้กำเนิดเพลงฮิตอย่าง “มนต์รักลูกทุ่ง” “สิบหมื่น” หรือ “รักร้าวหนาวลม” 


ดังนั้น ครูรังสี จึงฝากความหวังไว้ที่ครูไพบูลย์ค่อนข้างมาก ในการเขียนเพลงให้ “ปัง” ดังที่เคยกระทำมา 


และแล้ว ครูไพบูลย์ก็สามารถรังสรรค์เพลงประกอบภาพยนตร์ขึ้นมาได้ นามว่า “รักแล้งเดือนห้า” ซึ่งมีการเปรียบเปรยที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะได้กรุยทางการนำหน้าแล้งเข้ามาเปรียบเปรยกับความรักที่ไม่สมหวัง แต่กลับฟังแล้วไม่รู้สึกแปลกประหลาด ซ้ำยัง “รื่นหู” อย่างไม่น่าเชื่อ ดังเนื้อเพลงเขียนไว้ ดังนี้


ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็แห้งขอดคลอง เมื่อยามได้มองพื้นนาเป็นร่อง แยกแตกระแหง

ต้นหญ้าสดเขียว ก็พลันแห้งเหี่ยวกรอบแดง พื้น นา หน้าแล้ง เหมือนดวงใจแห้ง แยกแตกเป็นผล

 

ย่างเข้าเดือนห้า แก้วตาคู่รักเปลี่ยนใจ รู้ไหมว่าใครเฝ้าครวญ หวลให้จิตใจปรวนแปร สิ้นความสดใส นั่งซึมขรึมใต้ต้นแค เหมือนคนพ่ายแพ้ หัวใจเป็นแผลรักเจ้าระบม

 

ลืม หมดสิ้นรสรักเก่า น้องลืมร่มเงาใต้ต้นสะเดา และซุ้มลั่นทม น้ำแห้งเดือนห้า น้องก็หนีหน้าไปตามสายลม ทิ้งไว้เพียงกลีบลั่นทม ให้มันเฉาแห้งเหี่ยวตาย

 

ย่างเข้าเดือนห้า ท้องฟ้าแห้งแล้งเมฆลอย พื้นนาก็คอยน้ำฝน จะลอยร่วงหล่นเรียงราย ดั่งหนุ่มคอยสาว เห็นทีจะเศร้าใจตาย น้องชั่งใจร้าย หยามหัวใจชายทิ้งได้ลงคอ


โดยเฉพาะท่อน “ผืนนาหน้าแล้ง เหมือนดวงใจแห้งแยกแตกเป็นแผล” ถือได้ว่าบาดใจผู้บริโภคอย่างมาก เป็นท่อนเพลงที่กินใจเพลงหนึ่งทีเดียว


ผู้ขับร้อง คือ “ศรคีรี ศรีประจวบ” ที่กำลังมีชื่อเสียงจากเพลง “น้ำท่วม” แต่กลับพลิกมาร้องเพลงความแห้งแล้ง ถือเป็นอารมณ์ขันแบบหนึ่ง


แม้จะสร้างชื่อเสียงพอสมควร แต่ผู้ที่ทำให้เพลงนี้ดังเป็นพลุแตก นั่นคือ “สายัณห์ สัญญา” หรือ “พี่เป้า ขวัญใจคนเดิม” ที่ได้ปัดฝุ่น นำมาขับร้องอีกครั้งราวช่วง พ.ศ. 2520


เมื่อมาถึงตรงนี้ ต้องยอมรับว่า ชาวไทยนั้นมี “ความสุนทรีย์” อย่างมาก แม้ว่าภัยแล้งหรืออากาศร้อนจะส่งผลกระทบทั้งทางกายและทางใจ แต่ก็ยังสามารถที่ “ทำบันเทิง” กับสิ่งดังกล่าวได้อย่างอภิรมย์


แหล่งอ้างอิง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง