รีเซต

รู้จัก! "เพอร์เซเวียแรนส์" มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ "Mars 2020 Perseverance Rover"

รู้จัก! "เพอร์เซเวียแรนส์" มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ "Mars 2020 Perseverance Rover"
TNN ช่อง16
29 กรกฎาคม 2563 ( 08:00 )
2.4K

 

วันนี้ (29 ก.ค.63) องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) หรือ นาซา เตรียมส่ง "รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์" (Perseverance) ขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวด ณ แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 30 ก.ค. 63 เวลาประมาณ 18.50 น. ตามเวลาประเทศไทย กับภารกิจ "Mars 2020 Perseverance Rover" โดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจร่องรอยของสิ่งมีชีวิตโบราณบนดาวอังคาร

 


 

โดยจะเดินทางไปพร้อมเพื่อนเฮลิคอปเตอร์ตัวน้อย ชื่อ "อินเจนูอิตี" (Ingenuity) เป็นเฮลิคอปเตอร์ลำแรกที่จะทดลองบินบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ที่จะช่วยให้เห็นสภาพบรรยากาศของดาวอังคารในมุมองที่แตกต่างออกไป ก่อนลงจอดบนดาวอังคารในอีก 7 เดือนข้างหน้า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 

 

ด้าน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ได้เผยแพร่บทความให้ความรู้เกี่ยวกับ "รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์" ไว้ 7 ข้อ ดังนี้ 

 

 

1) ภารกิจค้นหาสิ่งมีชีวิตและนำร่องสู่การส่งมนุษย์ไปเหยียบดาวอังคาร

ภารกิจ “Mars 2020” หรือ “เพอร์เซเวียแรนส์” (Perseverance) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ NASA’s Mars Exploration Program มีเป้าหมายภารกิจเพื่อสำรวจร่องรอยของสิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์ รวมทั้งศึกษาลักษณะสภาพอากาศ สภาพทางธรณีวิทยา และเก็บตัวอย่างดินดาวอังคารเพื่อรอส่งกลับมาศึกษายังโลก

 

นอกจากการเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ นาซายังทดสอบอุปกรณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity Mars Helicopter) และเครื่อง MOXIE ที่ใช้ผลิตออกซิเจน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจต่อไป และนำไปสู่เป้าหมายที่จะนำมนุษย์ไปเหยียบดาวอังคารในอนาคต

 

 

2) “Launch Window”

นาซามีกำหนดปล่อยจรวดเพื่อส่งยานเพอร์เซเวียแรนส์สู่ดาวอังคาร ณ แหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟอริดา สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 15 สิงหาคม 2563 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่โลก ดวงอาทิตย์ และดาวอังคารอยู่ในมุมที่เหมาะสม มีระยะห่างน้อย ทำให้ใช้พลังงานน้อยที่สุดในการส่งจรวดไปยังดาวอังคาร ซึ่งช่วยลดต้นทุนการส่งจรวดและเชื้อเพลิง

 

หากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น จรวดจะถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 18:50 น. ตามเวลาในประเทศไทย

 

 

3) “Skycane” ช่วยให้ลงจอดอย่างปลอดภัย

หนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญ ซับซ้อน และท้าทายที่สุดนั้นหนีไม่พ้น ช่วงที่ยานเข้าสู่ขั้นบรรยากาศดาวอังคารและลงจอด ณ หลุมอุกกาบาตเจซีโร (Jezero Crater) พื้นที่เป้าหมายของนาซาในการสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นผิวของดาวอังคารในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นบริเวณที่คาดว่าเคยถูกน้ำท่วม ช่วยให้ง่ายต่อการหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต

 

ในภารกิจนี้นาซาตัดสินใจใช้ระบบการลงจอดคล้ายกับยานคิวริออสซิตี (Curiosity) ที่ประสบความสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2555 กล่าวคือ ใช้ “Skycane” ที่ขับดันด้วยไอพ่น แล้วค่อย ๆ หย่อนรถสำรวจลงสู่พื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีการพัฒนาต่อยอดจากระบบเก่าที่จะช่วยให้ยานสามารถลงจอดได้แม่นยำและอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

 

4) ห้องทดลองเคลื่อนที่

ด้วยขนาดของเพอร์เซเวียแรนส์ที่ใหญ่ประมาณรถยนต์ มันจึงมาพร้อมอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น กล้องความละเอียดสูง Mastcam-Z, อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ MEDA, อุปกรณ์ตรวจโมเลกุลเคมี PIXL, อุปกรณ์เรดาร์สแกนใต้พื้นผิว RIMFAX, อุปกรณ์ตรวจหาสารอินทรีย์และแร่ธาตุระยะใกล้ SHERLOC และอุปกรณ์ตรวจโมเลกุลเคมีธาตุระยะไกล SuperCam

 

อุปกรณ์ทั้งหมดนี้ ถูกติดตั้งเพื่อให้เพอร์เซเวียแรนส์เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของดาวอังคาร ทั้งทางธรณีวิทยา สภาพอากาศ ร่องรอยของโมเลกุลสิ่งมีชีวิต ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลอาจนำไปสู่คำตอบด้านชีวดาราศาสตร์ (Astrobiology) และความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อกำเนิด วิวัฒนาการ ตลอดจนการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตในเอกภพ

 

 

5) ยานสำรวจที่มีกล้องเยอะที่สุด

เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดระหว่างปฎิบัติภารกิจ นาซาติดตั้งกล้องบนเพอร์เซเวียแรนส์ทั้งหมด 23 ตัว มากที่สุดนับตั้งแต่มีการส่งยานสำรวจอวกาศ กล้องเหล่านี้มีจุดประสงค์แตกต่างกันออกไป ทั้งในทางวิศวกรรมและทางวิทยาศาสตร์ สำหรับตรวจเช็คความเรียบร้อยของการทำงานและการลงจอดของยานในแต่ละช่วง รวมทั้งเก็บข้อมูลภาพถ่ายเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณะ

 

 

6) “อินเจนูอิตี” เฮลิคอปเตอร์ลำแรกบนดาวอังคาร

“อินเจนูอิตี” (Ingenuity) เฮลิคอปเตอร์ลำแรกที่จะถูกนำมาทดสอบการบินบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ความท้าทายของทดสอบนี้คือแม้ดาวอังคารจะมีแรงโน้มถ่วงต่ำ แต่เนื่องจากชั้นบรรยากาศนั้นเบาบางเพียง 1% เมื่อเทียบกับโลก ทำให้ทีมวิศวกรของนาซาต้องออกแบบให้อินเจนูอิตีมีน้ำหนักเบา และมีความเร็วรอบใบพัดที่สูงมากถึง 2,400 รอบ/วินาที เร็วกว่าเฮลิคอปเตอร์บนโลก ถึง 4 เท่า เพื่อให้เกิดแรงยกใต้ปีกใบพัด และสามารถบินขึ้นจากพื้นดาวอังคารได้

 

นอกจากนี้ ยังทดสอบ “MOXIE” เครื่องแปลงสภาพแก๊สคาร์บอนไดออกไซต์เป็นแก๊สออกซิเจน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งแก๊สออกซิเจนจากโลก เพื่อใช้สำหรับหายใจและเป็นเชื้อเพลิงภายในยานอวกาศ หากสำเร็จจะส่งผลต่อภารกิจอนาคตที่จะส่งมนุษย์คนแรกไปยังดาวอังคารเป็นอย่างมาก

 

 

7) “Send Your Name to Mars”

ถึงแม้มนุษย์จะยังไม่สามารถเดินทางไปดาวเคราะห์ดวงอื่นได้ แต่สำหรับภารกิจที่กำลังจะเกิดในวันพรุ่งนี้ นาซาได้เชิญชวนคนทั่วโลก ส่งชื่อไปดาวอังคารกับยานเพอร์เซเวียแรนส์ ผ่านกิจกรรม “Send Your Name to Mars” มีประชาชนจากทั่วทุกมุมโลกส่งมาเป็นจำนวนกว่า 10.9 ล้านรายชื่อ ชื่อทั้งหมดถูกบันทึกลงชิปซิลิกอนที่ติดอยู่บนตัวยานพร้อมลายสลักรูปโลกและดาวอังคารที่เชื่อมต่อกันตรงกลางด้วยดวงอาทิตย์ โดยเส้นลำแสงดวงอาทิตย์ถูกสลักเป็นรหัสมอร์ส ที่มีความหมายว่า “Explore as one”

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชมไลฟ์ได้ทาง https://go.nasa.gov/2CJHidq วันที่ 30 ก.ค.63 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย เจษฎา กีรติภารัตน์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

เกาะติดข่าวที่นี่

 

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง