รีเซต

45 ปี สังหารหมู่กวังจู แม้เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่เกาหลีใต้ยังต่อสู้เพื่อรักษาประวัติศาสตร์

45 ปี สังหารหมู่กวังจู แม้เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่เกาหลีใต้ยังต่อสู้เพื่อรักษาประวัติศาสตร์
TNN ช่อง16
17 พฤษภาคม 2568 ( 20:53 )
8

เหตุการณ์สังหารหมู่กวังจู ในเกาหลีใต้เมื่อปี 1980 การต่อสู้ของประชาชนต่อต้านเผด็จการ และเป็นการเปิดทางสู่ประชาธิปไตยของประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะผ่านมา 45 ปีแล้ว ทุกๆ ปี ในเมืองกวังจู ยังคงมีการรำลึกถึงการต่อสู้ ผู้เสียชีวิต ไปถึงการเรียกร้องความยุติธรรม และตามหาความจริงในเหตุการณ์อยู่

การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และการเข้าปราบของทหารในกวังจู จะจบลงด้วยการเสียชีวิตของทั้งพลเรือนและทหาร โดยจากการรวบรวมประวัติของเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ได้มีการบันทึกว่า มีพลเรือนเกาหลีเสียชีวิตมากกว่า 150 ราย สูญหาย 81 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ถูกลักพาตัว จับกุม กว่า 5,500 ราย (การนับรวม ณ วันที่ 24 มิถุนา 2014) ทั้งยังมีการเสียชีวิตของทหารและเจ้าหน้าที่อีกกว่า 40 ราย และบาดเจ็บกว่า 250 ราย 

ซึ่งเกาหลีใต้ยังคงใช้เวลาอีกกว่า 7 ปีถึงจะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และประชาชนต้องเรียกร้องกว่า 20 ปี เพื่อให้รัฐบาลสืบหาความจริง และต่อสู้เพื่อให้ผู้อยู่เบื้องหลัง และออกคำสั่งล้อมปราบมาลงโทษ


การต่อสู้เพื่อให้ผู้อยู่เบื้องหลังได้รับโทษ

แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะจบลง ความบอบช้ำของเหยื่อยังคงไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข ยังมีผู้สูญหายอีกหลายรายที่ยังไม่ถูกค้นพบ ญาติผู้เสียชีวิต ชาวกวังจู และผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ได้เรียกร้อง กดดันให้รัฐบาลพลเรือนสืบสวนเหตุการณ์นี้มาตลอด จนในปี 1995 สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายพิเศษเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยวันที่ 18 พฤษภาคม เพื่อนำเอาผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้มาลงโทษ 

ผลของการพิจารณาเหตุการณ์นี้ ทำให้ในปี 1996 ชอน ดูฮวาน อดีต ปธน.ในขณะนั้น และผู้สั่งการในเหตุการณ์ล้อมปราบถูกตัดสินโทษประหารชีวิต ซึ่งภายหลังถูกลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ โร แทอู อดีต ปธน.และอดีตนายพลกองทัพบก ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี ต่อมาถูกลดโทษเหลือ 17 ปี จากการออกคำสั่งจัดการผู้ชุมนุมในกวังจู ใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็น รับสินบน และทุจริตอื่นๆ 

แต่ถึงอย่างนั้น แม้ว่าจะถูกคุมขังไปเพียง 250 วัน ชอน และโร ก็ได้รับอภัยโทษ ด้วยเหตุผลเพื่อความปรองดองในสังคม ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ผู้เสียหายที่ต่างมองว่าไม่ได้รับความยุติธรรม

41 ปีให้หลังเหตุการณ์ ชอน ดูฮวัน และโร แทอู ทั้งคู่เสียชีวิตในปี 2021 โดยชอนไม่เคยแสดงความรู้สึกผิด เสียใจ หรือออกมาขอโทษประชาชนเลย ขณะที่ลูกชายของโร แทอูนั้น ออกมาขอโทษแทนบิดาในหลายๆ ครั้ง รวมถึงยังเดินทางไปยังสุสานที่กวังจู และสักการะดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตแทนบิดาด้วย 

หลังการเสียชีวิตของชอน ผู้เสียหายหลายคนมองว่า การตายของผู้นำเผด็จการไม่ช่วยเยียวยาบาดแผล และความบอบช้ำที่เขาได้รับ ทั้งยังทิ้งบาดแผลไว้ 

อี แจอึย ผู้เข้าร่วมการชุมนุมตอนนั้น ขณะเขาเป็นนักศึกษาพูดถึงการตายของชอนว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ชุนปฏิเสธการสังหารหมู่ และความรับผิดชอบของเขา แต่หลังจากนี้ ผู้รอดชีวิตต้องเข้าร่วมภารกิจทางประวัติศาสตร์ในการค้นหาข้อเท็จจริง โดยอีบอกว่า การปรองดองที่แท้จริงจะไม่มีวันสำเร็จได้ หากยังมีการเผยแพร่และให้ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในกวังจู 

แม้ว่าจะมีการตัดสินโทษ แต่ในเกาหลีใต้ก็ยังมีผู้สนับสนุนชอน และฝั่งขวาที่ยังมองว่า ผู้ชุมนุมกวังจู เป็นผู้แทรกซึมของสายลับเกาหลีเหนือคอมมิวนิสต์ที่คุกคามภัยความมั่นคงของชาติ

หลังการเสียชีวิตของชอน ดูฮวัน เหยื่อประมาณ 70 รายจากการสังหารหมู่กวังจูก็ได้ยื่นฟ้องรัฐบาล จากการได้รับการกระทบกระเทือนจิตใจด้วย 


การต่อสู้เพื่อรักษาประวัติศาสตร์

นอกจากการต่อสู้ เพื่อให้เปิดเผยความจริง และให้คนที่อยู่เบื้องหลังได้รับการลงโทษแล้ว ในกวังจูเอง ยังมีการต่อสู้เพื่อรักษาสถานที่ทางประวัติศาตร์ เพื่อให้เกิดการรำลึกเหตุการณ์ด้วย

การต่อสู้อันยาวนานนับทศวรรษเพื่อรักษาอดีตสำนักงานจังหวัดจอลลาใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของการประท้วงในปี 1980 กำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว โดยโครงการบูรณะนี้ เผชิญกับการคัดค้าน การประท้วง และอุปสรรคมากมายมาตลอดหลายปี กำลังจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์สถานที่แห่งนี้ไว้เป็นอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

หนึ่งในกลุ่มผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการนี้คือ "Mothers of May" ซึ่งเป็นกลุ่มแม่ของเหยื่อที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์กวังจู พวกเธอเคยโกนศีรษะ และอดอาหารประท้วงเพื่อต่อต้านการรื้อถอนอาคารบางส่วนในปี 2015 โดยความพยายามเหล่านี้ส่งผลให้รัฐบาลต้องยกเลิกแผนการทำลายอาคาร มาเป็นการบูรณะแทน 

“เป็นเวลา 10 ปีแล้ว เมื่อเราเริ่มต้นสิ่งนี้ครั้งแรก เราไม่ได้คาดหวังว่าจะใช้เวลานานขนาดนี้ ในระหว่างนี้ เราโกนหัว และอดอาหารประท้วง” ชู ฮเยซอง ผู้นำกลุ่ม Mothers of May กล่าวกับรัฐมนตรียู อินชอน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลกระบวนการฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด

การรื้อถอนในช่วงแรกมีเป้าหมายเพื่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมสมัยใหม่แห่งใหม่ ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์วัฒนธรรมเอเชียแห่งชาติ (ACC) แต่การถกเถียงอย่างต่อเนื่องระหว่างฝ่ายรัฐและภาคประชาชนได้นำไปสู่ฉันทามติในปี 2023 ให้มีการฟื้นฟูอาคารในรูปแบบดั้งเดิม เพื่อย้ำเตือนถึงราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเพื่อประชาธิปไตย

โดยรัฐบาลได้ประกาศแผนบูรณะอาคารหกหลัง รวมถึงอาคารหลัก อาคารผนวก ห้องประชุมรัฐบาล และหอประชุมซังมุกวาน ให้เหมือนสภาพเดิมกับในปี 1980 ทั้งโครงสร้างภายใน ภายนอก และทางเดินเชื่อมต่อ

เมื่อการบูรณะแล้วเสร็จ อาคารเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนในช่วงเหตุการณ์ 10 วันของเหตุการณ์ล้อมปราบกวังจู โดยเฉพาะหอประชุมซังมุกวานจะกลายเป็นพื้นที่อนุสรณ์ถาวร ซึ่งเคยเป็นสถานที่เก็บศพของเหยื่อในช่วงเหตุการณ์จริง ที่สร้างการตระหนักรู้ระดับโลกถึงความเจ็บปวดและความกล้าหาญของผู้มีส่วนร่วมในการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยในกวังจู


การต่อสู้เพื่อให้ผู้คน และโลกจดจำเหตุการณ์นี้

ในปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ชาวเกาหลีที่สนใจเหตุการณ์ล้อมปราบกวังจูมากขึ้น แต่เหตุการณ์นี้ยังได้รับความสนใจในระดับโลก จากการที่นักเขียวชาวเกาหลีใต้ ฮัน กัง ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2024

ฮัน กัง เป็นนักเขียนที่มีบ้านเกิดคือกวังจู และเมื่อเธออายุ 9 ขวบ เหตุการณ์นี้ก็ได้เกิดขึ้น แต่ครอบครัวของเธอได้ย้ายออกจากกวังจูไม่กี่เดือนก่อนการปราบปราม ซึ่งทิ้งความรู้สึกผิดไว้กับเธอ "มันเป็นความรู้สึกที่บางคนได้รับบาดเจ็บแทนเรา" เธอกล่าว

หนึ่งในหนังสือชื่อดังของฮันคือ ‘Human Act’ ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่มีเด็กชาย เสียชีวิตจากการล้อมปราบในกวังจู ทั้งยังถ่ายทอดโศกนาฎกรรมต่างๆ จากเหตุการณ์นี้ ซึ่งจากการได้รับรางวัล หนังสือของเธอกลับมาติดอันดับขายดีทั้งในเกาหลี และในฉบับแปลต่างประเทศ ทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจเหตุการณ์นี้ และช่วยรักษาความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ และเหยื่อของเหตุการณ์นั้นไว้ได้ ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกเข้าใจและรับรู้ถึงความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ในช่วงนั้น 

มีการพูดถึงหนังสือของฮันกังไว้ว่า มีพลังมากกว่าแค่กระดาษ และน้ำหมึก เพราะถ้อยคำของเธอยังเป็นเหมือนการช่วยพูดแทนเหยื่อ และยังช่วยบันทึกความทรงจํา ส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังที่สืบทอดความบอบช้ำเหล่านี้ ทั้งยังเป็นการระลึก และตระหนักว่าประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ชนะด้วยค่าใช้จ่ายที่เป็นชีวิตของมนุษย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง