นักวิจัยไขความลับ วิธีผลิตโซลาร์เซลล์ราคาถูกแต่ผลิตไฟฟ้าได้ดี
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (University of Surrey) ในอังกฤษ ได้ค้นพบสารที่เปรียบเสมือนหมึกระดับเล็กจิ๋วซึ่งช่วยเพิ่มเสถียรภาพการผลิตโซลาร์เซลล์ด้วยสารที่ชื่อว่าเพอเรอฟ์สไกต์ (Perovskite) ซึ่งเป็นแนวคิดการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่เชื่อว่าจะพลิกโลกได้ โดยหมึกตัวนี้จะทำให้เพอเรอฟ์สไกต์ผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ในอนาคต
Perovskite หัวใจโซลาร์เซลล์ราคาถูก
แผงโซลาร์เซลล์นั้นมีซิลิกอน (Silicon) เป็นส่วนประกอบหลักในการรับแสงแดดและแปรสภาพให้เกิดกระแสไฟฟ้า แต่ว่าต้องแลกกับต้นทุนที่สูง นักวิจัยจึงพยาหาทางนำเพอเรอฟ์สไกต์ (Perovskite หรือเพอรอฟสไกต์ในอังกฤษแบบบริติช) ที่เป็นแร่ซึ่งมีส่วนผสมของซิลิกอน (Silicon) มาใช้ทำแผงโซลาร์เซลล์แทนตั้งแต่ 2006 โดยมีราคาถูกกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของแบบดั้งเดิม
อย่างไรก็ตาม แผงโซลาร์เซลล์จากเพอเรอฟ์สไกต์นั้นมีความทนทานและประสิทธิภาพต่ำกว่าแบบเดิมมากแม้ว่าจะมีราคาถูกกว่า จนล่าสุดที่ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (University of Surrey) ได้ค้นพบว่า สารประกอบพิเศษที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมออกไซด์ (Aluminium oxide) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของแร่อะลูมีเนียมสามารถเคลือบลงบนเพอเรอฟ์สไกต์และทำให้ทนต่อการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ได้ทั้งหมด รวมถึงยกระดับประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าตามไปด้วย
โซลาร์เซลล์ราคาถูกใกล้เป็นความจริง
นักวิจัยมองว่างานวิจัยในครั้งนี้จะทำให้ระดับราคาของแผงโซลาร์เซลล์ทั้งโลกถูกลง และส่งผลให้การผลิตโซลาร์เซลล์ที่มีเพอเรอฟ์สไกต์ราคาถูกเป็นปริมาณมาก (Mass production) เป็นจริงได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้โลกเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาดได้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
งานวิจัยดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบก่อนตีพิมพ์ (Peer-reviewed) ลงในโซลาร์ พีอาร์แอล (Solar PRL) วารสารวิชาการดังพลังงานแสงอาทิตย์ที่เจาะลึกในการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแผงโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยงานนี้ถือเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าครั้งสำคัญสำหรับการเพิ่มกังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์ให้เป็นร้อยละ 80 ของการสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าใหม่ทั่วโลกในอนาคต
ที่มาข้อมูล Independent, Solarsquare
ที่มารูปภาพ Unsplash