อุทาหรณ์! ใส่คอนแทคเลนส์ว่ายน้ำ ทำตาติดเชื้อถึงขั้นผ่าตัด
วันนี้( 29 พ.ย.63) เพจเฟซบุ๊ก PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้โพสต์เรื่องราวเตือนภัยของการใส่คอนแทคเลนส์ว่ายน้ำ
โดยระบุข้อความว่า "ใส่คอนแทคเลนส์ว่ายน้ำเป็นเหตุ ผู้ป่วยหญิงอายุ 41 ปี รายนี้มีอาการปวดๆหายๆ เบลอ และตาซ้ายไวต่อแสง มีปัญหาต่อการลืมตา จากการรายงานของแพทย์ Lanxing Fu และ Ahmed Gomaa (2019) การวัดระดับความสามารถในการมองเห็น ตาขวาได้ 20/20 ส่วนตาซ้าย 20/200 ที่ตามีสิ่งผิดปกติลักษณะคล้ายวงแหวนแทรกซึมอยู่ แพทย์จึงขูดเอาสิ่งผิดปกติบริเวณกระจกตาไปเพราะเชื้อพบว่าเป็น Acanthamoeba keratitis เชื้อที่มีความสัมพันธ์กับการใส่คอนแทคเลนส์ ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา polihexanide และ propamidine isethionate แต่ถึงแม้ว่าเชื้อจะได้รับการกำจัดออกไปแล้ว แต่สายตาก็ยังไม่ดีขึ้นเนื่องจากมีแผลเป็นและต้อกระจก 12 เดือนหลังจากนั้นผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด ดีขึ้นมาเล็กน้อยเมื่อวัดระดับสายตาได้ 20/80 ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติใส่คอนเทคเลนส์ขณะว่ายน้ำ นั่นน่าจะเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ
-> Acanthamoeba เป็นโปรโตซัวกลุ่มอมีบาที่ดำรงชีวิตอิสระในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำ ห้วย หนอง ลำคลอง บึง ทะเลสาบ รวมถึง สระว่ายน้ำ บ่อน้ำ บ่อบำบัดน้ำเสีย น้ำจากเครื่องปรับอากาศ ฝุ่นละออง และดิน (ภัทธกร บุบผัน และคณะ 2561)
-> Acanthamoeba ระยะ trophozoite มีขนาด 25-40 ไมโครเมตร ระยะ cyst มีขนาดตั้งแต่ 10-35 ไมโครเมตร ที่ก่อโรคในคนเรามีหลายตัว อาทิ A. astronyxis, A. castellanii, A. polyphaga, A. triangularis และ A. culbertsoni
-> ในบ้านเรามีการสำรวจและพบเชื้อ A. castellani, A. polyphaga, A. triangularis, และ A.culbertsoni เป็นเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคกระจกตาอักเสบ (จิตรกุล สุวรรณเจริญ และวัชรพงษ์ ศรีชุม 2560)
-> A. keratitis เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของกระจกตา และบริเวณรอบประสาทตาจากเชื้อ Acanthamoeba spp. ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดในตา ตาแดง
แสบตา ตาพร่า น้ำตาไหล ไม่สู้แสง และอาจสูญเสียการมองเห็นได้ (Moore MB, et al. 1987)
-> โรค A. keratitis พบได้ในผู้ใส่คอนแทคเลนส์ มีการปนเปื้อนระยะ cyst หรือ trophozoite จากชุดอุปกรณ์ทําความสะอาด คอนแทคเลนส์เข้าสู่ตา
การติดเชื้อส่วนใหญ่พบในผู้ใช้คอนแทคเลนส์ที่รักษาความสะอาดไม่เพียงพอใส่แล้วไปอยู่ในที่สกปรก มีฝุ่น มีเชื้อโรค ใส่นอน ใส่ว่ายน้ำ การใช้คอนแทคเลนส์เป็นเวลานานๆ โดยไม่รักษาความสะอาดจะทำให้มีคราบฟิล์มเกาะอยู่บนคอนแทคเลนส์ คราบฟิล์มจะเป็นแหล่งอาหารของเชื้อ และทำให้เชื้อเกาะติดกับคอนแทคเลนส์ได้ดีขึ้น (ภัทธกร บุบผัน และคณะ 2561)
-> การป้องกัน ล้างมือและคอนแทคเลนส์ให้สะอาด น้ำยาทำความสะอาดล้างเลนส์ควรใช้ให้หมดภายใน 1 เดือน ถอดคอนแทคเลนส์ก่อนนอน นำตลับแช่เลนส์อบไมโครเวฟทุก 2-3 สัปดาห์ และเปลี่ยนตลับใหม่ทุก 2-3 เดือน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาพอากาศ โดย กรมอุตุนิยมวิทยา ประจำวันที่ 29 พ.ย.63
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE