รีเซต

สิงคโปร์ทำแบตเตอรี่บางเท่ากระจกตา เปิดทางพัฒนาคอนแทคเลนส์อัจฉริยะ

สิงคโปร์ทำแบตเตอรี่บางเท่ากระจกตา เปิดทางพัฒนาคอนแทคเลนส์อัจฉริยะ
TNN ช่อง16
7 กันยายน 2566 ( 14:06 )
107

คอนแทคเลนส์ (Contact lens) เป็นอุปกรณ์สำหรับดวงตาที่ถูกพัฒนามาเพื่อแก้ปัญหาสายตา และแม้ว่าจะมีความพยายามทำให้คอนแทคเลนส์เป็นมากกว่านั้น ก็ยังติดปัญหาว่าจะทำให้เซนเซอร์ต่าง ๆ ทำงานได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีแหล่งจ่ายไฟในระดับที่เล็กพอสำหรับใส่บนดวงตาได้ 


แต่ว่าล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technology University: NTU) จากสิงคโปร์ ได้สร้างแบตเตอรี่แบบใหม่ที่บางเท่ากับกระจกตา ซึ่งคาดว่าจะพาไปสู่การพัฒนาคอนแทคเลนส์อัจฉริยะในอนาคตได้


แบตเตอรี่ที่บางเท่ากระจกตา

แบตเตอรี่ดังกล่าวมีความหนา 0.5 มิลลิเมตร ซึ่งถูกเคลือบด้วยเอนไซม์ที่ชื่อว่า กลูโคส ออกซิเดส (Glucose oxidase) และมีองค์ประกอบของน้ำอยู่ภายใน เมื่อแบตเตอรี่ดังกล่าวสัมผัสกับโซเดียมไอออน (Sodium ion) และคลอไรด์ไอออน (Cloride ion) ในน้ำเกลือ ซึ่งในที่นี้จะอยู่ในรูปแบบของน้ำตา จากนั้น เกลือและเอนไซม์จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าจากการแตกตัวโมเลกุลของน้ำได้


โดยนักวิจัยได้ทดสอบวัดกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่ที่บางเท่ากระจกตา ด้วยการแช่แบตเตอรี่ตัวนี้ในสารละลายที่มีส่วนประกอบเหมือนน้ำตา และพบว่าตัวแบตเตอรี่นี้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ถึง 12 ชั่วโมง มีกระแสไฟฟ้า 45 ไมโครแอมแปร์ (Microampere: µA) ให้กำลังไฟฟ้า 201 ไมโครวัตต์ (Microwatt: µW) มีรอบการชาร์จอยู่ที่ 200 รอบ และยังรองรับการชาร์จด้วยไฟฟ้า (Power Supply) ด้วย


แบตเตอรี่ที่บางเท่ากระจกตากับการพัฒนาสมาร์ตคอนแทคเลนส์

การพัฒนาดังกล่าวอาจยังเร็วเกินกว่าจะสรุปได้ว่าจะได้เห็นสมาร์ตคอนแทคเลนส์ ที่สามารถแสดงภาพและข้อมูลเหมือนในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ได้ในเร็ว ๆ นี้ เพราะยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้การส่งภาพและข้อมูลต่าง ๆ เกิดขึ้นจริงในระดับความเล็กเท่าดวงตาได้เสียก่อน


โดยงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนาโน เอเนอร์จี (Nano Energy) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา และทาง NTU ได้แถลงข่าวงานวิจัยในครั้งนี้ในวันที่ 24 สิงหาคม ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากทั่วโลกเช่นกัน



ที่มาข้อมูลและรูปภาพ Nanyang Technology University

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง