รีเซต

NER ผลงานQ4แรง อย่าตระหนกตัด GSP

NER ผลงานQ4แรง อย่าตระหนกตัด GSP
ทันหุ้น
10 พฤศจิกายน 2563 ( 07:45 )
168
NER ผลงานQ4แรง อย่าตระหนกตัด GSP

ทันหุ้น-สู้โควิด- NER กำไร Q3 แตะ 152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.22% ส่องเนื้อแท้ หากตัดสำรองไฟไหม้ 31 ล้านบาท และค่าเงิน กำไรขึ้นเฉียด 200 ล้านบาท ชี้ไตรมาส 4 โดดเด่น กำลังผลิตเพิ่ม ราคายางสูง กลับสำรองไฟไหม้ ราคายางทรงตัว แนวโน้มยังขึ้น ส่วนการตัดสิทธิภาษีไทยยังไม่ชัดเจน แจงกระทบน้อย ด้านนักวิเคราะห์ชี้ลูกค้าแม้โดนตัดสิทธิแต่ก็ยังซื้อสินค้าแนะซื้อมองเป้า 5 บาท

 

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ชี้แจงผลประกอบการไตรมาส 3/2563 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 152.32 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.75 ล้านบาท คิดเป็น 3.22 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 147.57 ล้านบาท

 

โดยไตรมาสนี้บริษัทมีปริมาณการขาย 106,292 ตัน ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 72% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 4,336.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.87% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามปริมาณยอดคำสั่งซื้อ จากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าจากประเทศจีนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบริษัทฯ ได้ทยอยส่งมอบยางพาราสัญญาระยะยาว ให้กับลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์และรถบรรทุกรายใหญ่จากประเทศจีน จำนวน 2 ราย ได้แก่ LLIT และ Triangle Tyre รวม 72,000 ตัน/ปี และเป็นสัญญาระยะสั้นอีกราว 2-3 ราย

 

@ ไตรมาส4โตแรง

 

นายชูวิทย์ ระบุด้วยว่า ผลงานในช่วงไตรมาส 3 บริษัทได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียว อย่างกรณีไฟไหม้ ซึ่งได้ตั้งสำรองในส่วนที่ได้รับความเสียหาย 31 ล้านบาท และมีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและการวัดมูลค่าตราสารอนุพันธ์ ราว10 ล้านบาท ซึ่งหากนำ 2 สิ่งนี้บวกเข้าไปบริษัทจะมีกำไรราว 200 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามการตั้งสำรองไฟไหม้นั้นจะได้รับคืนจากประกันในช่วงไตรมาส 4/2563 เพราะฉะนั้นก็จะมีการกลับสำรองในส่วนนี้ 31 ล้านบาท ส่งผลดีต่อผลประกอบการในไตรมาส 4/2563 ที่จะถึง ซึ่งตรงกับช่วงที่บริษัทได้รับผลดีจากราคายางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากออเดอร์ในช่วงไตรมาส 3 ที่มีการส่งมอบและรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 ประกอบกับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผลงานช่วงไตรมาส 4 จึงจะโดดเด่นค่อนข้างมาก ส่งผลให้ภาพรวมปี 2563 มีโอกาสเติบโตสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ รายได้ 17,000 ล้านบาท และยอดขาย 365,000 ตัน อีกทั้งยังมีโมเมนตั้มการเติบโตที่โดดเด่นต่อเนื่องในปี 2564 ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงอานิสงค์ราคายางพาราที่มีแนวโน้มขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามปริมาณความต้องการในตลาดโลก

 

โดยคำสั่งซื้อที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น หนุนกำลังการผลิตโรงงานแห่งใหม่ขยับเป็น 70% ส่งผลให้กำลังการผลิตรวมโรงงาน 2 แห่งในปัจจุบันอยู่ที่ 360,000 ตัน และจะขยับเพิ่มเป็น 406,000 ตันในปี 2564 ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังสามารถบริหารจัดการประสิทธิภาพการผลิตได้ดียิ่งขึ้น

 

@ ตัดสิทธิกระทบน้อย

 

สำหรับกรณีที่สหรัฐมีการตัดสิทธิภาษีจากยางเวียดนาม และมีการประเมินว่าจะตัดสิทธิในไทยและลูกค้า NER อาจจะโดนด้วยนั้น นายชูวิทย์ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการตัดสิทธิทางภาษีของไทย แต่ถ้าตัดจริงในส่วนของบริษัทก็ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากลูกค้าของบริษัทรายใหญ่สุดไม่โดนสิทธิดังกล่าว แต่ยอมรับว่ามีลูกค้าบางรายที่อาจจะได้รับผลกระทบจากยางเรเดียนรถเล็ก ซึ่งก็ไม่มาก ดังนั้นจึงสบายใจได้  ซึ่งบริษัทฯ ยังมุ่งเดินหน้าขยายฐานลูกค้าใหม่ๆโดยเฉพาะประเทศอินเดีย เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่และอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจาลูกค้ารายใหญ่ในอินเดียสัญญา Long Term Contact จำนวน 2 ราย เบื้องต้นคาดจะสามารถสรุปรายละเอียดเงื่อนไขคำสั่งซื้อที่ชัดเจนได้ภายในช่วงต้นปี 2564

 

สำหรับราคายางขณะนี้เริ่มกลับมามีทรงตัวมีสเถียรภาพอีกครั้ง หลังจากช่วงที่ผ่านมามีการเก็งกำไรขึ้นแรง และมีเทขายออกมา อย่างไรก็ดีแนวโฯ้มยังคงมีการขาดแคลนยางอยู่ โดยคาดสิ้นปี 63 ราคายางเฉลี่ยแตะระดับ 60 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้บริษัทยังได้ประโยชน์จากต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ลดลง หลังจากโรงงานเริ่มเดินเครื่องผลิตด้วย

 

@ จังหวะซื้อเป้า 5 บาท

 

ด้านนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ประเด็นที่ทำให้ราคา NER ลดลง มาจากกรณีความกังวลว่า สหรัฐจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีกับไทยด้วย ซึ่งในส่วนนี้มองว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงจะกระทบเพียงเล้กน้อย เนื่องจากมองว่า ลูกค้าของ NER ที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิภาษี ก็คือ Zhongce rubber ขณะที่ Linglong tire ซึ่งเป็นรายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ 

 

อย่างไรก็ตามมองว่า Zhongce rubber จะยังคงสั่งซื้อกับ NER ต่อไป เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตนั้น จะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และก็ไม่รู้ว่าจะได้รับผลกระทบด้านภาษีอีกหรือไม่ ประกอบกับไทยคือประเทศที่ผลิตยางพาราสูงคุ้มค่ากับต้นทุน ยังคงแนะนำ “ซื้อ” แต่ราคาเป้าหมาย 5.00 บาท อิงPEปี 63 ที่ 9 เท่า ประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ที่ 853 ล้านบาท (+58% YoY) ปรับราคายางแท่งจากเดิมที่ 42 บาทต่อกก. มาเป็น 43 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ในปี2564 กำไรสุทธิจะอยู่ที่1.08 พันล้านบาท(+15% YoY)

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง