รีเซต

NER กำไร Q3/66 ที่ 312.27 ลบ. ลดลง 40.96% เลื่อนส่งสินค้าไปจีนจะรับรู้ Q4/66

NER กำไร Q3/66 ที่ 312.27 ลบ. ลดลง 40.96% เลื่อนส่งสินค้าไปจีนจะรับรู้ Q4/66
ทันหุ้น
6 พฤศจิกายน 2566 ( 17:19 )
52
NER กำไร Q3/66 ที่ 312.27 ลบ. ลดลง 40.96% เลื่อนส่งสินค้าไปจีนจะรับรู้ Q4/66

 

#NER #ทันหุ้น-บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ NER แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ไตรมาส 3/66 มีกำไร 312.27 ล้านบาท ลดลง 40.96% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไร 528.88 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายรวมในไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 5,627.92 ล้านบาท ลดลง 22.07% โดยแบ่งเป็นรายได้จากการขายในประเทศ 4,035.91 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 71.71% ของยอดขายรวม ลดลง 13.35% รายได้จากการขายต่างประเทศ 1,592.01 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 28.29% ของยอดขายรวม ลดลง 37.91% สาเหตุการลดลงของรายได้ขายต่างประเทศ เกิดจากการเลื่อนการส่งมอบสินค้าไปยังประเทศจีน เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดวันชาติจีนคิดเป็นปริมาณขายอยู่ที่ 6,651.20 ตัน หรือ 324.98 ล้านบาท โดยบริษัทมีการรับรู้รายได้ดังกล่าวในไตรมาส 4/66 

 

 ส่วนปริมาณขายอยู่ที่ 112,426 ตัน ลดลง 9.23% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านต้นทุนขายในไตรมาส 3/66 เท่ากับ 5,013.07 ล้านบาท หรือคิดเป็น 89.08% ของรายได้จากการขายรวม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนต้นทุนขายเมื่อเทียบกับรายได้จากการขายรวมเพิ่มขึ้น 2.44% ซึ่งเกิดขึ้นจากค่าซ่อมแซมเครื่องจักรมีมูลค่าสูงขึ้น 18.92 ล้านบาท ในโรงงานยางแท่ง ซึ่งเป็นการซ่อมแซมบำรุงรักษาตามอายุการใช้งานของเครื่องจักรเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ 

 

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มผู้ค้าคนกลางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดเผยภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 มีปริมาณขาย 369,478 ตัน เพิ่มขึ้น 60,868 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 19.72%  คิดเป็นรายได้จากการขายรวม 18,439.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 353.55 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1.95%แบ่งเป็นรายได้จากการขายในประเทศ 11,949.62 ล้านบาท หรือคิดเป็น 64.80% ของยอดขายรวม และรายได้จากการขายต่างประเทศ 6,490.28 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.20% ของยอดขายรวม โดยงวด 9 เดือนของปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,083.87 ล้านบาทหรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 5.88 ของรายได้จากการขายรวม

 

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 3 เดือน บริษัทมีปริมาณขายรวม 112,426 ตัน คิดเป็นรายได้จากการขายรวม 5,627.92 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากการขายในประเทศ 4,035.91 ล้านบาทหรือคิดเป็น 71.71% ของยอดขายรวม และรายได้จากการขายต่างประเทศ 1,592.01 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.29% ของยอดขายรวม โดยกำไรสุทธิสำหรับงวดไตรมาส 3/2566 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 312.27 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.55% ของรายไดจ้ากการขายรวม

 

โดยรายได้จากการขายงวด 9 เดือนของปี 2566 เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน มียอดขายเพิ่มขึ้น 1.95% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นด้านปริมาณขาย ในผลิตภัณฑ์ยางแท่ง (STR20, STR-Mixture) ที่บริษัทฯได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้บริษัทจะมีผลต่างปริมาณขายสูงขึ้น 19.72%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ในด้านรายได้จากการขายบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากราคาขายที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีก่อน ซึ่งบริษัทเปรียบเทียบราคาขายเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนของปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งราคาขายเฉลี่ยปี 2566 ต่ำกว่าราคาขายเฉลี่ยปี 2565 คิดเป็น 14.55%  นอกจากนี้รายได้ขายต่างประเทศที่ลดลงเกิดจากการเลื่อนการส่งมอบสินค้าไปยังประเทศจีนเนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดวันชาติจีนคิดเป็นปริมาณขายอยู่ที่ 6,651.20 ตันหรือ 324.98 ล้านบาท โดยบริษัทฯมีการรับรู้รายได้ดังกล่าวในไตรมาส 4/2566

 

นายชูวิทย์ กล่าวถึงภาพรวมปี 2566 ว่า บริษัทยังคงตั้งเป้าปริมาณขายสินค้าที่ 500,000 ตัน จากกำลังการผลิตทั้งหมด 515,600 ตัน โดยการเติบโตมาจากการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าต่างๆ และความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบันบริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีการขายให้กับลูกค้าไปถึงไตรมาสที่ 1/2567 แล้ว จากอานิสงค์ของคำสั่งซื้อจากประเทศจีนที่ยังมีความต้องการสูงและราคายางที่ปรับตัวดีขึ้น

 

นอกจากนี้บริษัทฯ มีการวางแผนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรเพื่อรองรับการผลิตที่มากขึ้นในอนาคต ตลอดจนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานเพิ่มเติม โดยปัจจุบันบริษัทฯมีพลังงานหมุนเวียน คือ พลังงานจากแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)และไบโอแก๊สที่ผลิตเพื่อใช้งานเองภายในบริษัท รวมกำลังการผลิต 8 เมกกะวัตต์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานของบริษัทได้เป็นอย่างดี

 

ด้านสถานการณ์ราคายางพารา เริ่มมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด (Demand) ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มขยายตัวหนุนความต้องการใช้ยางในภาคก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังได้รับกดดันจากอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ ค่าเงินบาท

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง