SpaceX กำลังเจรจาเพื่อลงจอด Starship นอกชายฝั่งออสเตรเลีย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัทด้านจรวดและอวกาศชื่อดังของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ (Elon Musk) กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาร่วมกับหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เพื่อขอลงจอด สตาร์ชิป (Starship) นอกชายฝั่งของประเทศออสเตรเลีย
ความเคลื่อนไหวนี้ เกิดขึ้นหลังจากการทดสอบลงจอดในมหาสมุทรอินเดียเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่แน่นแฟ้นขึ้น ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย โดยแผนการที่อยู่ในระหว่างการเจรจานี้ จะทำให้บริษัทสามารถปล่อย สตาร์ชิป (Starship) จากพื้นที่ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา และลงจอดในทะเลนอกชายฝั่งออสเตรเลีย เพื่อทดสอบการกู้คืนกลับมาใช้ใหม่ได้
สำหรับสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) การทดสอบลงจอดและกู้คืน สตาร์ชิป (Starship) ถือเป็นกระบวนการทดสอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบยานอวกาศลำนี้ ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อทำภารกิจการปล่อยดาวเทียม การขนส่งสินค้า และการทำภารกิจบนดวงจันทร์ โดยได้รับการออกแบบมา ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ สตาร์ชิป (Starship) ยังเคยถูกออกแบบให้เป็นระบบยานอวกาศ ที่จะส่งมนุษย์อวกาศขึ้นสู่วงโคจรได้มากถึง 100 คนในการทำภารกิจครั้งเดียว รวมถึงรองรับการขนส่งชิ้นส่วนสถานีอวกาศหรือดาวเทียม ที่มีน้ำหนักมากถึง 100-150 ตัน ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของการขนส่งอวกาศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
โดยปัจจุบันกองทัพอากาศสหรัฐฯ กำลังตรวจสอบว่า สตาร์ชิป (Starship) สามารถใช้ส่งสินค้าไปยังอีกฟากหนึ่งของโลกภายในเวลาเพียง 90 นาที ได้หรือไม่ ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า ร็อกเก็ต คาร์โก (Rocket Cargo) ของห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่มุ่งเป้าไปที่การใช้จรวดขนส่งสินค้าทางทหารไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งทางบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ก็กำลังอยู่ในช่วงการวิจัยและพัฒนาแนวคิดดังกล่าว โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหม และคาดว่าจะเริ่มสร้างต้นแบบเพื่อการทดสอบโครงการนี้ ภายในปี 2025
ข้อมูลจาก reutersconnect, indiatoday, reuters