เมื่อเทคโนโลยีสีเขียวก่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมราคาที่ซ่อนอยู่ใต้แอ่งเกลืออาตากามา

แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดทั่วโลกได้เร่งการลงทุนใน เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ดูเป็นบวกนี้กลับ ซ่อนต้นทุนภายนอก (Externalities) ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นไว้อย่างลึกซึ้ง
ตัวอย่างเช่น ทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี หนึ่งในพื้นที่ที่อุดมด้วย น้ำเกลือลิเธียมใต้ดิน (Brine lithium) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางการสกัดลิเธียมระดับโลก แต่ขณะเดียวกันก็เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ และการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่กำลังลุกลาม
ลิเธียมหัวใจของเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
รายงานของ International Energy Agency (IEA) ความต้องการแร่ลิเธียมทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 95,000 ตันในปี 2021 เป็น 205,000 ตันในปี 2024 และคาดว่าอาจทะลุ 900,000 ตันภายในปี 2040 ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อใช้ในแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV battery)
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการสกัดลิเธียมจากแอ่งเกลือใต้ดินนั้น จำเป็นต้อง สูบน้ำเกลือขึ้นมาและปล่อยให้ระเหยในบ่อกลางแจ้ง นานหลายเดือน ซึ่งทำให้สูญเสียน้ำจืดมหาศาล และส่งผลต่อแหล่งน้ำใต้ดินที่หล่อเลี้ยงระบบนิเวศอันเปราะบางของทะเลทรายอาตากามา
ระบบนิเวศที่กำลังเปลี่ยนแปลง
แอ่งเกลืออาตากามา ประเทศชิลี ทวีปอเมริกาใต้ ถือเป็นแหล่งผลิตลิเธียมแหล่งใหญ่ของโลก ขึ้นตอนการผลิตลิเธียมสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของนักฟลามิงโก ต้นอัลการ์โรโบ รวมไปถึงแหล่งชุมชนต่าง ๆ
ฟาวิโอลา กอนซาเลซ นักชีววิทยาท้องถิ่น รายงานว่า ปริมาณน้ำในทะเลสาบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ จุลินทรีย์น้ำเค็ม ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของนกฟลามิงโกในพื้นที่ลดลงตามไปด้วย ทำให้ฤดูสืบพันธุ์ล้มเหลวติดต่อกันหลายปี
สำหรับพืชพื้นถิ่น เช่น ต้นอัลการ์โรโบ นั้นเป็นพืชตระกูลถั่วและมีบทบาทสำคัญในการยึดดินและให้ร่มเงาในพื้นที่แห้งแล้ง เริ่มแห้งตาย โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กับเหมืองของบริษัท Sociedad Química y Minera de Chile (SQM) ซึ่งเป็นผู้ผลิตลิเธียมรายใหญ่ของโลก
โดยรายงานจาก National Resources Defense Council (NRDC) ยังเตือนว่า การทำเหมืองในทะเลทรายแห่งนี้กำลังค่อย ๆ ทำลายสมดุลของระบบนิเวศอย่างช้า ๆ แต่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อนกฟลามิงโกและต้นอัลการ์โรโบ
ชุมชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ผู้ที่แบกรับต้นทุน
เมื่อพูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม มนุษย์ถือว่ามีบทบาทสำคัญทั้งในส่วนของต้นเหตุของปัญหาและผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนไพน์ ซึ่งกำลังกลายเป็นผู้แบกรับต้นทุน ขาดแคลนแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
“บางทีฉันอาจจะไม่เห็นเพราะอายุของฉัน แต่ลูกหลานของเราจะได้เห็น หากไม่มีน้ำ ไม่มีเกษตรกรรม พวกเขาจะอยู่อย่างไร?” — ซารา พลาซา หนึ่งในผู้อยู่อาศัย กล่าวกับสื่อพร้อมน้ำตา
เซอร์จิโอ คูบิลยอส ผู้นำชุมชนไพน์ ระบุว่า "แม้จะมีการชดเชยทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลและบริษัทเหมืองแร่ แต่ประชาชนกลับรู้สึกว่าตน กลายเป็นตัวประกันของการพัฒนา" โดยเฉพาะการที่รัฐบาลผลักดันยุทธศาสตร์ลิเธียมแห่งชาติโดยไม่เปิดพื้นที่ให้ชุมชนพื้นเมืองมีบทบาทในการกำหนดทิศทาง
ยุทธศาสตร์ลิเธียมแห่งชาติ (National Lithium Strategy)
รัฐบาลชิลียืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ริเริ่ม ยุทธศาสตร์ลิเธียมแห่งชาติ (National Lithium Strategy) โดยจับมือกับรัฐวิสาหกิจอย่าง Codelco และเอกชนอย่าง SQM เพื่อเพิ่มกำลังผลิตภายใต้กรอบ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” แต่การใช้เทคโนโลยีลดผลกระทบยังอยู่ในช่วงทดลอง เช่น
การสกัดลิเธียมโดยตรงจากน้ำเกลือ (Direct Lithium Extraction – DLE) ซึ่งไม่ใช้สระระเหย
การฉีดน้ำกลับลงไปใต้ดินเพื่อรักษาสมดุลน้ำบาดาล
แม้ว่าจะมีรายงานจาก MIT Sustainable Supply Chain Initiative เตือนว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่ยังต้องทดสอบเพิ่มเติม
การแก้ไขปัญหาลิเธียมแหล่งผลิตทะเลทรายอาตากามา
การพึ่งพาแร่ลิเธียมในฐานะหัวใจของพลังงานสะอาดควรได้รับการทบทวน โดยสนับสนุนทางเลือกอย่าง แบตเตอรี่โซเดียมไอออน ซึ่งใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายและกระจายตัวกว้างกว่า รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ ที่ช่วยลดความจำเป็นในการสกัดวัตถุดิบใหม่ และลดแรงกดดันต่อแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
ในระดับห่วงโซ่อุปทาน ควรมีการออกแบบ ระบบปิด (Closed-loop Supply Chain) ที่สามารถหมุนเวียนวัสดุกลับเข้าสู่การผลิตใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดของเสีย และลดการพึ่งพาการทำเหมืองเพิ่มเติม ควบคู่กับการบังคับใช้มาตรฐาน ESG (Environment, Social, Governance) อย่างเคร่งครัดกับกิจกรรมเหมืองแร่ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการไม่ละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชน
ส่วนในเชิงนโยบาย รัฐบาลควรเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมที่แท้จริงให้กับชุมชนพื้นเมือง โดยเฉพาะการให้สิทธิในการยับยั้งหรือเสนอทางเลือกต่อโครงการที่กระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/ESIA) ต้องดำเนินอย่างอิสระ โปร่งใส และอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากภาคประชาชน
นอกจากนี้ควรจัดตั้ง กองทุนฟื้นฟูระบบนิเวศ ที่จัดสรรจากรายได้การผลิตลิเธียมและส่งคืนให้ชุมชนในระยะยาว พร้อมกับสนับสนุนการวิจัยในอุตสาหกรรมรีไซเคิลแร่หายาก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนาคต ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการเปลี่ยนผ่านที่ยั่งยืนและเป็นธรรมอย่างแท้จริง
กรณีของทะเลทรายอาตากามาเป็นภาพสะท้อนของภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกระดับโลก เมื่อการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับต้องพึ่งพาทรัพยากรจากภูมิภาคที่เปราะบางที่สุด หากไม่มีการวางแผนที่รอบคอบและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง การเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่ยั่งยืนก็อาจแลกมาด้วยความสูญเสียที่ไม่มีวันหวนคืน ทั้งต่อระบบนิเวศ ผู้คน และความหวังของคนรุ่นต่อไปในพื้นที่เหล่านั้น
แม้เทคโนโลยีสีเขียวจะเป็นคำตอบของวิกฤตโลกร้อน แต่หากปราศจากความเป็นธรรมและการจัดการเชิงระบบ มันอาจกลายเป็นพลังงานสะอาดที่สร้างความสกปรกให้โลกในอีกมิติหนึ่ง การหาทางออกต้องอาศัยทั้งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการออกแบบนโยบายที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ในฐานะศูนย์กลางร่วมกัน
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
