The Ocean Cleanup ทดสอบระบบจัดเก็บขยะในมหาสมุทรแปซิฟิก
The Ocean Cleanup องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรได้ทำการทดสอบเครื่องเก็บขยะพลาสติกในบริเวณที่เรียกว่าแพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) แพขยะพลาสติกที่ลอยมารวมตัวกันในบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยขยะทั้งหมดลอยมาจากชายฝั่งประเทศเอเชียตะวันออกและอเมริกาเหนือฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยอิทธิพลของกระแสน้ำในมหาสมุทรทำให้ขยะมารวมกันบริเวณจุดนี้ นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่าแพขยะทั้งหมดกระจายตัวอยู่พื้นที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือเกือบ 3 เท่าของเนื้อที่ประเทศไทยทั้งประเทศ
ระบบจัดเก็บขยะในมหาสมุทร System 002 ทีมงานใช้การวางทุ่นลอยน้ำเป็นรูปตัว U โดยใช้เรือลากจูง 2 ลำ เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 1.5 นอต ทุ่นลอยมีความกว้างทั้งหมดประมาณ 800 เมตร สามารถดักขับขยะที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำในขณะเดียวกันปลาสามารถว่ายน้ำลอดผ่านไปได้ เรือสามารถเปลี่ยนทิศทางการกวาดจัดเก็บขยะบนผิวน้ำไปตามปริมาณขยะที่ตรงพบ โดยบริเวณส่วนตรงกลางของแนวทุ่นลอยน้ำมีตาข่ายขนาดใหญ่เพื่อจัดเก็บขยะทั้งหมดและลากจูงขึ้นบนเรือทั้ง 2 ลำ
อย่างไรก็ตามภายหลังการทดสอบระบบจัดเก็บขยะในมหาสมุทร System 002 เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมาพบว่ายังไม่สามารถจัดเก็บขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทีมงานได้ปรับปรุงแก้ไขให้สามารถรวบรวมขยะโดยยังรักษาความเร็วของเรือเอาไว้และสามารถจัดเก็บขยะพลาสาติกน้ำหนักรวมกันได้กว่า 3.8 ตัน แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับความกว้างของมหาสมุทรขนาดใหญ่แต่นับเป็นความพยายามครั้งสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมในมหาสมุทรซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญของต่อโลก
The Ocean Cleanup ก่อตั้งโดยโบแยน สแลต ชาวเนเธอร์แลนด์เขานำเสนอโครงการเก็บขยะครั้งแรกในปี 2013 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีจัดเก็บขยะพลาสติกในมหาสมุทรและแม่น้ำลำคลองโดยได้พัฒนาและปรับปรุงรูปแบบวิธีการเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2020 เคยเปิดตัวเรือเก็บขยะ Interceptors พลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 3 ลำเพื่อใช้เก็บขยะในแม่น้ำประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสาธารณรัฐโดมินิกัน ส่วนการจัดเก็บขยะในมหาสมุทร The Ocean Cleanup วางแผนที่จะเก็บขยะพลาสติกในมหาสมุทรให้ได้ 90% ภายในปี 2040
ข้อมูลจาก newatlas.com
ภาพจาก theoceancleanup