เตรียมรับฤดูร้อน เสื้อผ้าเคลือบเพชรนาโนช่วยให้ผู้สวมใส่เย็นสบายขึ้น
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย RMIT (Royal Melbourne Institute of Technology) วิทยาเขตหลักในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย พัฒนาวิธีการใหม่ผสมผงเพชรนาโนกับโพลียูรีเทน ซึ่งเป็นสารพอลิเมอร์ชนิดหนึ่งเข้ากับสารตัวทำละลาย เพื่อใช้ผลิตเสื้อผ้าที่ช่วยให้ผู้สวมใส่รู้สึกเย็นสบาย ปกป้องความร้อนจากอากาศด้านนอก โดยมีราคาต้นทุนที่ถูกและผลิตได้ง่าย
สำหรับเพชรนาโนดังกล่าวมีลักษณะเป็นผงขนาดเล็กโครงสร้างภายในเป็นแบบ "ตาข่ายคาร์บอน" คล้ายโครงสร้างของเพชรในธรรมชาติ ทำให้มีคุณสมบัตินำความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทีมนักวิจัยประกอบด้วยนายแพทย์ ชาดี ฮูชยาร์ (Shadi Houshyar) และไอชา เรห์มาน (Aisha Rehman) ได้ผสมผงเพชรนาโน โพลียูรีเทน และสารตัวทำละลาย โดยใช้เทคนิคอิเล็กโตรสปินนิง (Electrospinning) หรือ การใช้แรงไฟฟ้าเพื่อดึงเกลียวที่มีประจุของสารละลายโพลีเมอร์จนถึงเส้นผ่านศูนย์กลาง ซึ่งเหมาะสำหรับเส้นใยที่มีขนาดเล็ก และทำการเคลือผ้าฝ้ายเฉพาะด้านที่ติดกับผิวหนังผู้สวมใส่
ทีมงานได้ทำการทดลองนำผ้าฝ้ายที่ผ่านการเคลือบผงเพชรนาโนมาทำการเปรียบเทียบกับผ้าฝ้ายแบบปกติ โดยปล่อยให้เนื้อผ้าทั้ง 2 รูปแบบ รับความร้อนอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 นาที และปล่อยให้เนื้อผ้าเย็นตัวลง 10 นาที ผลการทดลองพบว่าผ้าฝ้ายที่เคลือบผงเพชรนาโนสามารถปล่อยความร้อนเพิ่มขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส ส่งผลให้มีอุณหภูมิด้านในลดลงมากกว่าผ้าฝ้ายปกติ
นอกจากนี้ทีมงานยังค้นพบว่า ผ้าฝ้ายที่ผ่านการเคลือบผงเพชรนาโนสามารถป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การซึมผ่านของอากาศและการดูดซับความชื้นนั้นไม่ดีเท่ากับผ้าฝ้ายแบบปกติ แต่ก็ยังอยู่ในช่วงที่ยอมรับและสวมใส่ได้
"แม้อุณหภูมิ 2-3 องศา อาจดูไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ก็สร้างความสะดวกสบายและดีต่อสุขภาพผู้สวมใส่ในระยะยาว รวมไปถึงการเปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศที่ลดลงได้" ชาดี ฮูชยาร์ หนึ่งในนักวิจัยกล่าวอธิบายเพิ่มเติม
ผลงานการวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ลงวารสาร Polymers for Advanced Technologies เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา สำหรับการพัฒนาต่อยอด นอกจากใช้ผลิตเสื้อผ้ายังสามารถใช้เป็นส่วนผสมของสีทาภายนอกอาคารเพื่อป้องกันความร้อน และสามารถลดปริมาณการใช้งานเครื่องปรับอากาศลงได้ในอนาคต
ที่มาของข้อมูล Newatlas