รู้จัก “เสวี่ยหลง 2" เรือตัดน้ำแข็งขั้วโลกสุดล้ำจากจีน สัญลักษณ์ “ไทย-จีน” ร่วมรับมือโลกรวน

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีและการทดลองเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศติดลบ หรือการวิจัยศึกษาความรู้เกี่ยวกับขั้วโลก ดูเหมือนจะเป็นเรื่องห่างไกลจากประเทศไทย ซึ่งเป็นเมืองร้อนเพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ที่ผ่านมา จึงเป็นการนำคณะนักวิทยาศาสตร์เดินทางข้ามโลกไปยังดินแดนหนาวเหน็บเพื่อศึกษา
แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการนำนวัตกรรมงานวิจัยขั้วโลกมาให้ประชาชน ตลอดจนนักวิจัยได้ศึกษาอย่างใกล้ชิด นั่นคือการมาเยือนของเรือตัดน้ำแข็ง "เสวี่ยหลง 2" (Xue Long 2) จากจีน หนึ่งในเรือวิจัยขั้วโลกที่ทันสมัยที่สุดของโลก โดยการแวะพักครั้งนี้ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางกลับจากภารกิจสำรวจทวีปแอนตาร์กติกา
"เสวี่ยหลง 2" เป็นเรือตัดน้ำแข็งเพื่อวิจัยขั้วโลกที่จีนพัฒนาขึ้นเอง มีความยาว 122.5 เมตร กว้าง 22.3 เมตร และสามารถจุผู้โดยสารกว่า 50 คน และลูกเรือ 40 คน เรือลำนี้สามารถตัดน้ำแข็งหนา 1.5 เมตรได้ทั้งเดินหน้าและถอยหลัง ทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ขั้วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ร่วมภารกิจสำรวจขั้วโลกใต้ ย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยในขั้วโลกใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลกว่าหนึ่งหมื่นกิโลเมตร ที่อาจดูไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทย แต่แท้จริงแล้วมีผลกระทบโดยตรง เช่น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ภาวะน้ำท่วม หรือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่ง
“แม้ประเทศไทยจะอยู่ห่างจากขั้วโลกใต้กว่าหนึ่งหมื่นกิโลเมตร แต่ผลกระทบจากการละลายของน้ำแข็งส่งผลโดยตรง เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง และภาวะน้ำท่วม ภารกิจสำรวจขั้วโลกช่วยให้สามารถเก็บตัวอย่างและข้อมูลสำคัญเพื่อการวิจัย เช่น ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และการตายของหญ้าทะเลที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเล ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของขั้วโลก” ศ.ดร.สุชนา กล่าว
เรือเสวี่ยหลง 2 เป็นมากกว่าเรือตัดน้ำแข็ง มันคือ “เรือแห่งความร่วมมือ” ที่พานักวิจัย ข้อมูล และแรงบันดาลใจ เดินทางจากสุดขั้วของโลกมาสู่หัวใจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเยือนครั้งนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษในวาระสำคัญ คือ การเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา และวาระครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–จีน
เรือวิจัยขั้วโลกที่ทันสมัยที่สุดของจีนได้มาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 19–23 พฤษภาคม 2568 โดยเทียบท่าที่ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นสัญลักษณ์ของพลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนในการสำรวจดินแดนสุดขั้วของโลก การมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภารกิจวิทยาศาสตร์ หากยังเปิดพื้นที่การเรียนรู้อย่างกว้างขวาง