รีเซต

ส่องสถานการณ์ “ฮ่องกง” อนาคตที่ “ไร้พลาสติก” ยังเป็นไปได้ไหม?

ส่องสถานการณ์ “ฮ่องกง” อนาคตที่ “ไร้พลาสติก” ยังเป็นไปได้ไหม?
TNN ช่อง16
11 กรกฎาคม 2568 ( 11:00 )
18

แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมาแล้วกว่าหนึ่งปีเต็ม ฮ่องกงยังต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะการขาดแคลนวัสดุทดแทนที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม ขณะที่ปัญหาขยะพลาสติกยังคงรุนแรง รัฐบาลฮ่องกงจึงอาจต้องเร่งศึกษากรณีตัวอย่างจากนานาประเทศ เพื่อผลักดันการใช้วัสดุทางเลือกและเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ปราศจากพลาสติกอย่างแท้จริง

รัฐบาลฮ่องกงเริ่มต้นแผนการแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวด้วยการออกกฎหมาย Product Eco-responsibility (Amendment) Bill เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2023 โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ


ระยะแรก

มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมษายน 2024 ห้ามการขายหรือแจกจ่ายภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวหลายประเภท ทั้งโฟมใส่อาหาร หลอดพลาสติก ช้อน ส้อม มีด จาน ฝาถ้วย กล่องใส่อาหาร ฯลฯ ในร้านอาหาร รวมถึงห้ามโรงแรมแจกจ่ายของใช้พลาสติกฟรี เช่น แปรงสีฟัน หวี ขวดน้ำบรรจุพลาสติก

ระยะสอง

ยังไม่ประกาศวันเริ่มใช้ จะเข้มงวดมากขึ้น โดยห้ามไม่ให้จำหน่ายหรือแจกจ่ายพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั้งหมด รวมถึงผลิตภัณฑ์อย่างวงแหวนพลาสติกหุ้มแพ็กขวดน้ำ ผ้าปูโต๊ะพลาสติก และไหมขัดฟันแบบมีด้ามพลาสติก


นอกจากนี้ยังมีการสั่งห้ามผลิตและจำหน่ายพลาสติกประเภทที่ย่อยสลายได้ไม่สมบูรณ์ (oxidizable biodegradable plastics) ด้วยเช่นกัน

ผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน และหากไม่ดำเนินการแก้ไขภายใน 21 วัน อาจถูกปรับ 2,000 ดอลลาร์ฮ่องกง(คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8,300 บาท) และหากทำผิดซ้ำซากอาจถูกปรับสูงสุดถึง 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 415,000 บาท)

แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายจะดี แต่มาตรการนี้กลับเจอเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง ว่า “วัสดุทดแทนพลาสติกยังไม่พร้อมใช้งาน” ทั้งในแง่ราคาและคุณภาพวัสดุทดแทนที่พบได้ในฮ่องกง เช่น กระดาษ ไม้ ไผ่ เยื่ออ้อย และใยพืช มีการใช้กันมากขึ้น โดยเฉพาะกระดาษและเยื่ออ้อยซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลิตได้ง่าย แต่แม้จะปลอดพลาสติก แต่การผลิตกระดาษยังคงสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์และใช้น้ำจำนวนมาก เช่น การผลิตกระดาษ 1 ตัน ปล่อยคาร์บอนถึง 950 กิโลกรัม และใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตร

ในแง่ความปลอดภัยต่อสุขภาพ การตรวจสอบในปี 2022 โดยสภาผู้บริโภคฮ่องกงพบว่า บรรจุภัณฑ์จากเยื่อพืชหลายชนิด รวมถึงหลอดกระดาษ บางชนิดมีสาร PFAS เกินค่าที่สหภาพยุโรปกำหนด PFAS หรือ “สารเคมีตลอดกาล” เป็นสารเคมีที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และปัญหาการเจริญเติบโต


งานวิจัยในยุโรปพบว่า หลอดกระดาษถึง 90% และหลอดไผ่ 80% ที่นำมาทดสอบล้วนมี PFAS อยู่เช่นกันขณะเดียวกัน ราคาของภาชนะทางเลือกยังสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยความต่างของราคาต่อชิ้นอาจอยู่ระหว่าง 0.50 – 2.82 บาท ต่อชิ้นซึ่งส่งผลต่อความเต็มใจของร้านอาหารขนาดเล็กในการเปลี่ยนมาใช้

ด้านประธานสมาคมร้านอาหารฮ่องกงชี้ว่า ต้นทุนอาจลดลงในอนาคต หากมีการผลิตมากขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะสั้น ร้านอาหารบางแห่งยังคงประสบปัญหา ทั้งเรื่องราคาสูง และคุณภาพที่ไม่ตอบโจทย์เจ้าของร้านอาหารเซี่ยงไฮ้ในฮ่องกงรายหนึ่งเผยว่า กล่องอาหารที่ทำจากพืชไม่ทนความร้อนและอาจไม่เหมาะกับการพกพาไปไกล ขณะที่ลูกค้าของเขาก็บ่นว่า “หลอดกระดาษพังภายในสองอึก” และ “ส้อมกระดาษใช้ตักอะไรแทบไม่ได้เลย”

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลพยายามส่งเสริมการรีไซเคิลผ่านการติดตั้ง “เครื่องรับคืนขวดพลาสติก” (Reverse Vending Machines – RVMs) มากถึง 120 เครื่องทั่วทั้ง 18 เขตของฮ่องกง พร้อมให้เงินคืน 0.415 บาทต่อขวด แต่ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมจำนวนมากวิจารณ์ว่าค่าตอบแทนนี้ “น้อยเกินไป” ที่จะกระตุ้นให้ประชาชนรีไซเคิลอย่างจริงจัง ด้านองค์กร Reloop Pacific ระบุว่า รางวัล 0.415 บาทต่อขวดนี้ต่ำที่สุดในโลก และไม่จูงใจทั้งผู้ใช้และบริษัทรีไซเคิล จึงเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนมาใช้ระบบ “มัดจำคืนเงิน” (Deposit Refund Scheme – DRS) ซึ่งให้ผู้บริโภชำระเงินเพิ่มเล็กน้อยตอนซื้อ และจะได้คืนเมื่อรีไซเคิลอย่างถูกวิธี



อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ใช้ DRS (มัดจำคืนเงิน)เช่น เยอรมนีและสโลวาเกีย สามารถเก็บคืนขวดได้มากกว่า 90% ภายในไม่กี่ปี ชี้ชัดว่าการตั้งมูลค่ามัดจำให้เพียงพอคือกุญแจสำคัญของความสำเร็จ

โดยในปี 2023 ขยะพลาสติกคิดเป็น 19% ของปริมาณขยะทั้งหมดที่เข้าสู่หลุมฝังกลบ ซึ่งเท่ากับเกือบ 750,000 ตัน แม้จะลดลง 10% จากปีก่อนหน้า แต่ก็ยังถือว่าสูงมากการศึกษาจากกรีนพีซพบว่า 97% ของขยะตามลำน้ำในฮ่องกงเป็นพลาสติก และในปี 2021 มีการพบไมโครพลาสติกในลำธารธรรมชาติของฮ่องกงเป็นครั้งแรก และยังพบในอุจจาระของสัตว์ป่าในปีถัดมา แสดงให้เห็นว่าแม้พื้นที่ห่างไกลก็ไม่ปลอดภัยจากพลาสติก

ไมโครพลาสติกไม่เพียงเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ แต่ยังสะสมในห่วงโซ่อาหารจนเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง ความผิดปกติทางพัฒนาการ และโรคระบบต่อมไร้ท่อ นอกจากนี้ สัตว์ทะเลจำนวนมากเข้าใจผิดว่าพลาสติกเป็นอาหาร ไม่สามารถย่อยได้ ทำให้เกิดการอุดตันในระบบย่อยอาหาร หรือพันร่างกายจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง ยังพบว่า ไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลสามารถเข้าสู่ร่างกายสัตว์น้ำและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพวกมันได้เช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า การรีไซเคิลหรือการหันมาใช้พลาสติกย่อยสลายได้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากไม่ลดการผลิตและการใช้ที่ต้นทาง

“เราต้องหยุดพึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียว เลิกใช้ให้ได้ตั้งแต่ต้นทาง และพัฒนาทางแก้ที่ปลอดพลาสติกอย่างแท้จริง” เป็นสิ่งที่องค์กรสิ่งแวดล้อมหลายแห่งย้ำหนัก การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดพร้อมกันทั้งในระดับนโยบาย การออกแบบผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมผู้บริโภค และโครงสร้างพื้นฐาน หากฮ่องกงต้องการก้าวไปสู่อนาคตที่ปลอดพลาสติกอย่างยั่งยืนจริงๆ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง