รีเซต

เปิดสถิติ 7 ปีหลัง โลกร้อนที่สุด พบปีที่แล้ว ร้อนสุดเป็นอันดับ 5

เปิดสถิติ 7 ปีหลัง โลกร้อนที่สุด พบปีที่แล้ว ร้อนสุดเป็นอันดับ 5
TNN ช่อง16
11 มกราคม 2565 ( 12:47 )
106
เปิดสถิติ 7 ปีหลัง โลกร้อนที่สุด พบปีที่แล้ว ร้อนสุดเป็นอันดับ 5

วันนี้ (11 ม.ค.65) นักวิทยาศาสตร์สหภาพยุโรป หรืออียู เปิดเผยข้อมูลใหม่จากระบบดาวเทียมอียู ที่ชื่อว่า โคเปอร์นิคัส ไคลเมต เชนจ์ เซอร์วิช (Copernicus Climate Change Service) หรือ C3S หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป 

พบว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เป็นเวลาที่อุณหภูมิของโลกร้อนที่สุดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็อยู่ในระดับที่สูงที่สุด 

อีกทั้งในปี 2021 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับ 5 ซึ่งอุณหภูมิความร้อน พุ่งสูงทำลายสถิติในหลายภูมิภาค ขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน ซึ่งเป็นตัวการโลกร้อน ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำสถิติใหม่ 

ข้อมูลของโคเปอร์นิคัส พบว่า ปี 2021 โลกร้อนกว่าปี 2015 และ 2018 เล็กน้อย แต่ปีที่ร้อนที่สุดคือ 2020 และ 2016 อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกันแล้ว ในช่วง 7 ปีหลังสุด ถือเป็นช่วง 7 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์อย่างชัดเจน   

C3S ระบุในรายงานที่เผยแพร่ในวันจันทร์ว่า 7 ปีที่ผ่านมา โลกร้อนที่สุดอย่างชัดเจน โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2021 เหนือกว่าระดับในปี 1850-9000 หรือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 150 ปี อยู่ที่ 1.1-1.2 องศาเซลเซียส 

รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างให้คำมั่นสัญญาภายใต้ “สนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก 2015” ว่าจะพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ให้อยู่ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

เพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นระดับที่บรรดานักวิทยาศาสตร์บอกว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดได้ แต่เตือนว่า เวลากำลังหมดลงอย่างรวดเร็ว 

โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว กำหนดให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 แต่จนถึงขณะนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แนวโน้มภาวะโลกร้อนระยะยาวยังคงเดินหน้าต่อไป 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2021 ตั้งแต่น้ำท่วมในยุโรป, จีน และซูดานใต้ ไปจนถึงไฟป่าในไซบีเรียและสหรัฐฯ

ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด และมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง และการปล่อยก๊าซทั้ง 2 ชนิดก็ทำสถิติสูงสุดในปี 2021 โดยระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ พุ่งขึ้นถึง 414.3 ส่วนต่อล้านในปี 2021 เพิ่มขึ้นประมาณ 2.4 ส่วน จากปี 2020 

ส่วนระดับของก๊าซมีเทน พุ่งสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่เข้าใจสาเหตุที่แน่ชัด การปล่อยก๊าซมีเทนเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากการผลิตน้ำมันและก๊าซ และการทำเกษตร จนถึงจากแหล่งธรรมชาติ เช่นพื้นที่ชุ่มน้ำ

หลังการลดลงชั่วคราวในปี 2020 จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ข้อมูลชั่วคราวบ่งชี้ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก กลับมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ในปี 2021

ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ยุโรปร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเผชิญสภาพอากาศร้อนในเดือนมีนาคม และสภาพอากาศเย็นผิดปกติในเดือนเมษายน สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรในหลายประเทศ รวมทั้งฝรั่งเศสและฮังการี 

ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม คลื่นความร้อนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงในหลายประเทศ ทั้งตุรกีและกรีซ โดยเกาะซิซิลี ของอิตาลี อุณหภูมิพุ่งสูงสุดครั้งใหม่ในยุโรป 48.8 องศาเซลเซียส 

และในเดือนกรกฎาคมเช่นกัน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คนเมื่อเกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในยุโรปตะวันตก บรรดานักวิทยาศาสตร์สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้น้ำท่วมรุนแรงขึ้นอย่างน้อยละ 20

ในเดือนเดียวกันนี้ด้วย ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ในมณฑลเห่อหนานของจีน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คน จากนั้น ก็เกิดคลื่นความร้อนถล่มรัฐแคลิฟอร์เนีย เกิดไฟป่าใหญ่สุดอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของรัฐ ทำลายผืนดินและทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

หลายพื้นที่อุณหภูมิเฉลี่ยนเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชายฝั่งด้านตะวันตกของสหรัฐฯและแคนาดา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแคนาดาและกรีนแลนด์, พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือและภาคกลางของแอฟริกา และตะวันออกกลางด้วย  



ภาพจาก TNN ONLINE


ข่าวที่เกี่ยวข้อง