รีเซต

กังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ตั้งเป็นรั้วอาคารได้ กำลังการผลิต 2,200 KW ต่อปี

กังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ตั้งเป็นรั้วอาคารได้ กำลังการผลิต 2,200 KW ต่อปี
TNN ช่อง16
7 มิถุนายน 2567 ( 10:37 )
47
กังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ตั้งเป็นรั้วอาคารได้ กำลังการผลิต 2,200 KW ต่อปี

แอร์รีวา (Airiva) บริษัทสตาร์ตอัปจากสหรัฐอเมริกา พัฒนากังหันลมที่มีใบเป็นแนวตั้งและวางตัวป็นรั้วได้ บอกลาข้อจำกัดของกังหันลม หนึ่งในระบบการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งหมุนเวียน ที่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานระดับอาคารได้ เนื่องจากมีขนาดที่ใหญ่กว่าอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ที่มีกำลังการผลิตใกล้เคียงกัน


ข้อมูลรั้วกังหันลมแนวตั้ง

Airiva นอกจากจะเป็นชื่อของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาในปี 2022 แล้ว ยังเป็นชื่อของผลิตภัณฑ์กังหันลมแนวตั้งดังกล่าวด้วย ซึ่งเริ่มต้นมาจากแนวคิดของโจ ดอว์เซ็ต (Joe Doucet) นักออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ชื่อดัง โดยลักษณะของ Airiva จะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่สามารถต่อกันเป็นแนวรั้วได้ โดยแต่ละชุดของ Airiva มีความยาว 4.2 เมตร และความสูง 2.1 เมตร ซึ่งภายในมีกังหันลมแนวตั้งอยู่ด้วยกัน 8 ใบ 


รูปทรงของกังหันลมเรียกว่า เฮลิกซ์ (Helix) เป็นลักษณะใบที่ปิดเป็นเกลียวขึ้นไป ซึ่งเป็นรูปทรงในลักษณะคล้ายกับดอกสว่านที่กำลังหมุนอยู่ เนื่องจากการทดสอบของทีม Airiva ในอุโมงค์ลม พบว่า ใบพัดกังหันลมแนวตั้งในทรงเฮลิกซ์หรือทรงดอกสว่าน มีประสิทธิภาพการแปลงจากพลังงานลมเป็นพลังงานไฟฟ้ามากที่สุด จากแบบทดสอบกว่า 16 รูปแบบ และมีเสียงรบกวนระหว่างการทำงานที่ต่ำ จึงสามารถนำไปติดตั้งเป็นแนวรั้วของอาคารหรือสถานที่ต่าง ๆ ได้


ประสิทธิภาพและการตลาดของรั้วกังหันลมแนวตั้ง

ทาง Airiva ระบุว่า 1 ชุดของ Airiva ที่มีกังหันลมแบบดอกสว่านรวม 8 ใบ จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 2,200 กิโลวัตต์ (KW) แต่ไม่ได้ระบุว่าระบบ Airiva ใช้เวลาเท่าไหร่ในการผลิตไฟฟ้าให้ได้จำนวนดังกล่าว


ทั้งนี้ TNN Tech คาดการณ์ว่า ระบบกังหันแบบใหม่นี้อาจถูกออกแบบให้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากลักษณะของนวัตกรรมที่สามารถรับลมได้ตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่ากำลังการผลิตต่อชั่วโมงของ Airiva นั้นอยู่ที่ 250 วัตต์ (W) (2,200 KW/8,760 ชั่วโมง = 0.25 KW) โดยตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับเดียวกับแผ่นโซลาร์เซลล์มาตรฐาน 1 แผ่น ที่มีกำลังการผลิตต่อชั่วโมงระหว่าง 250 - 500 วัตต์ 


นอกจากนี้ Airiva ยังมีข้อดีที่การผลิตไฟฟ้าอยู่ใกล้กับสถานที่ใช้ไฟฟ้า จึงทำให้ไม่ต้องสูญเสียพลังงานไฟฟ้าไปกับการส่งพลังงาน เช่น สายไฟ ต่างจากกังหันลมขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องตั้งในพื้นที่ห่างไกลชุมชนหรือสถานที่ซึ่งต้องการไฟฟ้า


อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดและกำลังการผลิตต่อ 1 ชุด หากนำไปติดตั้งในพื้นที่อยู่อาศัยจะได้กำลังการผลิตที่น้อยเนื่องจากพื้นที่ติดตั้งที่มีจำกัด ด้วยเหตุนี้ ผู้พัฒนาอย่าง Airiva จึงตั้งเป้าหมายไว้เป็นลูกค้าองค์กร หน่วยงานของรัฐ เช่น สนามบิน หรือถนนระหว่างเมือง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแก้การทำงานผลิตภัณฑ์และคาดว่าจะเริ่มเสนอขายได้ภายในปี 2025 นี้


ข้อมูลจาก Interesting Engineering

ภาพจาก Airiva

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง