รีเซต

เปิดใจคนเก่งด้าน AI ชาวไทย กับการได้โอกาสเรียนต่อที่ MIT

เปิดใจคนเก่งด้าน AI ชาวไทย กับการได้โอกาสเรียนต่อที่ MIT
TNN ช่อง16
14 มกราคม 2566 ( 13:54 )
100

เมื่อวันที่ 19 - 20 ธันวาคมปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีระดับโลกผ่านงานเสวนา MIT Media Lab Southeast Asia Forum ซึ่งจัดขึ้นที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค (True Digital Park) โดยภายในงานนี้นั้นมีผู้พูดที่เชิญมาจากหลายภาคส่วนมาให้ความรู้และทิศทางเทคโนโลยีของมนุษยชาติในอนาคต รวมถึงคุณพัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยที่ MIT Media Lab ด้วยเช่นกัน




คุณพัทน์ ภัทรนุธาพร เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาฟลูอิด อินเตอร์เฟส (Fluid Interfaces) ซึ่งเป็นสาขาการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการผสานเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ากับวิถีชีวิตของมนุษย์ และนับเป็นคนไทยไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสไปอยู่ ณ MIT Media Lab สถาบันวิจัยอันดับต้น ๆ ของโลกที่ก่อตั้งโดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซสต์ (MIT) ในประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในสามสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของทุกสำนักเป็นประจำทุกปี


ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะทำได้ และการเข้าเรียนต่อใน MIT นั้นก็ถือเป็นเป้าหมายอันยิ่งใหญ่สำหรับเยาวชนไทยที่มีแรงบันดาลใจจากคนดังในประเทศ เช่น คุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และในตอนนี้ คุณพัทน์ ภัทรนุธาพร ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ตามที่ปรากฏในสื่อหลากหลายสำนักอยู่ในปัจจุบัน


ดังนั้น TNN Tech จึงได้พูดคุยเพื่อเปิดเผยเบื้องหลังความสำเร็จของคุณพัทน์ โดยตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปในการได้โอกาสเข้าศึกษาต่อ รวมถึงข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีความใฝ่ฝันในการเข้าเรียนต่อที่ MIT อีกด้วย


คุณพัทน์ ได้เล่าให้ฟังว่าการเข้าเรียนต่อของตนเองนั้นไม่ได้เป็นเส้นทางที่ง่าย หลังจากที่คุณพัทน์พบความต้องการในการศึกษาต่อแล้ว ก็ได้เขียนอีเมล (Email) ไปยังอาจารย์ที่ปรึกษา (Advisor) ใน MIT Media Lab เพื่อขอโอกาสในการเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรี แต่ก็ถูกปฏิเสธ แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดความฝันของตน และยังคงติดต่อพูดคุยกับว่าที่ที่ปรึกษาในสาขาที่สนใจอย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดก็ได้รับการติดต่อกลับมาให้พูดคุยแนวทางการเรียนต่อในความพยายามครั้งที่ 3 ของเขา


นอกจากนี้ คุณพัทน์ยังเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติของแต่ละคนนั้นล้วนสร้างเส้นทางการศึกษาต่อให้ตนเองได้ ความแปลกจากคนธรรมดาอื่น ๆ ที่ถูกมองว่าเป็นความแปลกประหลาด หรือเป็นแกะดำนั้นกลับเป็นแรงส่งให้คุณพัทน์ได้เข้าเรียน MIT และทำงานที่ MIT Meida Lab ในตอนนี้


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรละเลยมากที่สุดก็คือการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ (Get things done) ที่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบจะกลายเป็นกุญแจสู่การเข้าเรียนและสามารถเรียนจนจบการศึกษา พร้อมทั้งต่อยอดไปสู่การทำงานวิจัยต่อไปได้ในอนาคต


ในขณะเดียวกันคุณพัทน์ได้ฝากเอาไว้ให้เยาวชนไทยที่ต้องการศึกษาต่อ MIT ว่าต้องกำหนดและค้นหาเป้าหมายในชีวิตของตนเอง กำหนดแนวทางการค้นคว้า ค้นหาสิ่งที่อยากทำเพื่อตัวเองและโลก เช่น การเลือกเรียนเสริมความรู้ผ่านทางคอร์สเรียนออนไลน์ที่ฟรีและมีคุณภาพ การทำทั้งสองอย่างนี้จะเปิดทางให้เราสามารถเดินหน้าตามเป้าหมายในชีวิตได้


“ถ้าเราเจอในสิ่งที่เราชอบแล้วก็สนุก มันก็จะไปต่อเอง ไม่ต้องคิดอะไรมาก” 

คุณพัทน์กล่าวทิ้งท้ายกับ TNN Tech


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง