เกณฑ์ทหาร 2566 คืออะไร? ใครต้องไปบ้าง? เช็ก! คุณสมบัติ ข้อกำหนด วิธีผ่อนผัน ที่นี่
ข่าววันนี้ เกณฑ์ทหาร 2566 ใครต้องไปบ้าง? หลัง "กองทัพบก" จะทำการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ ในปี 2565 ซึ่งขณะนี้ทางราชการได้เตรียมความพร้อมทุกด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เข้ารับการตรวจเลือก การคัดเลือก "ทหาร" อย่างเต็มที่ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19
เกณฑ์ทหาร 2566 ใครต้องไปบ้าง?
เกณฑ์ทหาร เป็นหน้าที่สำคัญของชายไทย วันนี้จะพาทุกคนไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการคัดเลือก การเกณฑ์ทหาร เพื่อที่จะสมัครคัดเลือก หรือรับการผ่อนผัน เพราะเมื่อได้รับจดหมายให้เข้ารับการคัดเลือกการเกณฑ์ทหาร 65 จะได้เตรียมเอกสาร ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
เกณฑ์ทหาร คืออะไร?
ตามกฎหมาย พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดให้ชายไทยต้องเข้ารับราชการทหารทุกคน ปกติการเกณฑ์ทหารจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน เมษายน ของทุกปี ปีละครั้ง และต้องเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์จำนวน 2 ปี แต่มีข้อยกเว้น และผ่อนผันสำหรับผู้ที่
- เรียนวิชารักษาดินแดน (ร.ด.)
- ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับต่าง ๆ
ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร และกฎกระทรวง ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กระทรวงกลาโหม
เกณฑ์ทหาร 2566 ใครต้องไปคัดเลือกเป็นทหารบ้าง?
- ผู้ที่เกิดโดยพ่อที่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในประเทศไทย หรือที่ต่างประเทศ
- ผู้ที่เกิดโดยมีมารดาสัญชาติไทย แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดาไม่มีสัญชาติ
- ผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย (ยกเว้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มผู้แทนทางการทูต)
- ผู้ที่เปลี่ยนแปลงสัญชาติเป็นไทย
- ผู้ที่ได้คืนสัญชาติเป็นไทยตั้งแต่อายุครบ 17 ปี ย่าง 18 ปี ในวาระแรกที่ได้ขึ้นทะเบียนทหารในอำเภอที่กฎหมายกำหนด
เกณฑ์ทหาร ปี 66 เดือนไหน?
กองทัพบกจะทำการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ ในปี 2566 (เกณฑ์ทหาร 2566 ) ระหว่างวันที่ 1-20 เมษายน 66 (เว้นวันที่ 6 และ 13 - 15 เม.ย. 66)
เกณฑ์ทหาร 2566 อายุเท่าไหร่ คุณสมบัติ มีอะไรบ้าง?
- ชายไทยที่เกิด พ.ศ. 2544 (อายุครบ 21 ปีบริบูรณ์)
- ผู้ที่เกิด พ.ศ. 2536 - 2543 (อายุ 22-29 ปี ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก หรือการตรวจเลือกยังไม่แล้วเสร็จ)
ขั้นตอนการรับราชการทหาร
1. การรับหมายเรียก (การรับหมายเกณฑ์) ทหารกองเกินทุกคนเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี (20 ปีบริบูรณ์) ใน พ.ศ.ใดต้องไปแสดงตน เพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายใน พ.ศ.นั้น
2. การเข้ารับการตรวจเลือก (การเข้าเกณฑ์ทหาร) ทหารกองเกินเมื่อได้รับหมายเรียกแล้วจะต้องไปเกณฑ์ทหารตามวัน เวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายเรียก
3. การเข้ารับการเรียกพลของทหารกองหนุน ทหารที่ปลดจากกองประจำการโดยรับราชการในกองประจำการจนครบตามที่กฎหมายกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน เมื่อมีหมายเรียกพล (เพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม) จะต้องไปรายงานตัวเพื่อเข้ารับการฝึก หรือทบทวนวิชาทหารให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหาร หรือเกณฑ์ทหาร
- เดินทางไปยังสถานที่ตรวจเลือกทหารกองเกิน ในเวลา 07.00 น.
- ประธานตรวจคัดเลือก จะชี้แจงรายละเอียดที่จำเป็นเกี่ยวกับการตรวจเลือกทหาร
- สัสดีจะชี้แจงขั้นตอน รวมถึงสิทธิต่างๆ ของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการ
- กรรมการเรียกชื่อเข้ารับการตรวจเลือก
- แพทย์ตรวจร่างกาย
- หากได้รับการคัดเลือก ด้วยการจับได้ใบแดง หรือสมัครเป็นทหารเอง สัสดีจะส่งตัวต่อให้นายอำเจอ หรือผู้อำนวยการเขต หรือปลัดอำเภอ ออกหมายนัดรับราชการทหารตามผลัดที่จับสลากได้
เกณฑ์ทหาร 2566 ใช้อะไรบ้าง
- บัตรประชาชน
- ใบสำคัญทหารกองเกิน (สด.9)
- หมายเรียกฯ (สด.35)
- วุฒิการศึกษา
- ใบรับรองแพทย์ เป็นต้น
โดยเฉพาะผู้จะขอใช้สิทธิต่าง ๆ เช่น ลดเวลาประจำการตามวุฒิการศึกษา หรือผู้ที่ขอผ่อนผันต่อหรือขอสละสิทธิ์ผ่อนผัน
ใครได้รับข้อยกเว้นการเกณฑ์ทหารปี 66 ?
บุคคลที่ได้รับการยกเว้น มีรายละเอียดดังนี้
- บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ
- บุคคลที่มีร่างกายพิการ ทุพพลภาพ
- พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ชั้นเปรียญ นักบวชนิกายมหายาน
- บุคคลที่ได้รับการยกเว้น เมื่อลงบัญชีทหารกองเกินแล้วไม่เรียกมาตรวจเลือกรับราชการทหารในยามปกติ
- สามเณร ภิกษุ นักบวชพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ
- นักบวชศาสนาอื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้
- บุคคลที่ผ่านการเรียนนักศึกษาวิชาทหาร (เรียน รด.) ครบตามหลักสูตรที่กำหนด
- นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร กระทรวงกลาโหม
- ครู ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญไว้ให้
- นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ
- นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม
ผ่อนผันเกณฑ์ทหาร 2566 ทำอย่างไร?
ให้นักศึกษานำแบบ สด. 9 ไปขอรับหมายเรียก แบบ สด.35 ณ ที่ว่าการอำเภอตามภูมิลำเนาทหาร แล้วนำมาแสดงตนเพื่อขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร ณ งานกิจการนักศึกษา คณะ/วิทยาลัยเขต/วิทยาเขต ต้นสังกัด ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม ในวันและเวลาราชการ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.orsa.mahidol.ac.th หรือ โทร 02-849-4509 ในวันและเวลาราชการ
คุณสมบัติผู้ขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารและการเข้ารับการเรียกพล
- ชายไทย อายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 26 ปี
- กำลังศึกษาอยู่และไม่ได้เรียนหรือเรียนวิชาทหารไม่จบชั้นปีที่ 3
กรณีชายไทยยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับใครที่ไม่สามารถเดินทางไปตรวจคัดเลือกเกณฑ์ทหารได้ในวันและเวลาที่กำหนด เพราะกำลังศึกษา พ่อแม่ หรือผู้ปกครองสามารถดำเนินการแทนได้ โดยใช้เอกสารยื่นต่อสัสดีตามภูมิลำเนา ดังนี้
เอกสารการผ่อนผันเกณฑ์ทหารกรณีศึกษาอยู่
- สด. 9 และ สด. 35
- หนังสือรับรองการศึกษา หากเป็นภาษาต่างประเทศต้องขอฉบับแปลเป็นภาษาไทย
- หากศึกษาอยู่ต่างประเทศ ต้องขอหนังสือรับรองของสถานทูต หรือ สถานกงสุลไทยในประเทศที่กำลังศึกษาอยู่
ทั้งนี้ กรณีการผ่อนผันดังกล่าว จะได้ระยะเวลาผ่อนผันตามจำนวนปีที่ศึกษาจนกว่าจะจบการศึกษา
กรณีติดราชการ
หากคุณอยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ หรือปฏิบัติงานทางราชการตามที่กำหนดนี้ จะได้รับการผ่อนผันจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย หรือผู้ที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย ได้แก่
- ผู้ที่เดินทางไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแบบปัจจุบันทันด่วน
- ข้าราชการ หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ ระหว่างที่มีสงคราม ในการดูแลควบคุมของกระทรวงกลาโหม
- บุคคลที่กำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสนาม
กรณีป่วย เกิดเหตุสุดวิสัย และอื่น ๆ
กรณีที่ไม่สามารถเดินทางไปยังสถานที่ ในวันและเวลาที่กำหนดได้ ต้องให้บุคคลที่บรรลุนิติภาวะ ดำเนินการแจ้งกับสัสดี หรือคณะกรรมการคัดเลือกในวันคัดเลือกเกณฑ์ทหาร หากไม่ยื่นแจ้ง ถือว่ามีความผิด
ผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร ใช้หลักฐานอะไรบ้าง?
- สำเนาใบสำคัญ (แบบ สด.9) หน้า-หลังจำนวน 4 ชุด
- สำเนาหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35) จำนวน 4 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 4 ชุด
- หนังสือรับรองการเป็นนักศึกษา (ต้องเป็นฉบับจริง 1 ฉบับ) สำเนา 3 ฉบับ
- สำเนาหลักฐานการเปลี่ยน ชื่อ-ชื่อสกุล (ถ้ามี) จำนวน 4 ชุด
- สำเนาใบโอนย้ายภูมิลำเนา (ถ้ามี) จำนวน 4 ชุด
- สำเนาบัตรนักศึกษา จำนวน 4 ชุด
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 4 ชุด
หมายเหตุ : โปรดตรวจสอบ หลักฐาน ข้อ 1–3 ชื่อ-นามสกุล ของผู้ขอผ่อนผัน/บิดา/มารดา ให้ตรงกันด้วย และต้องสำเนาให้ชัดเจนพร้อมลงนามรับรองสำเนาด้วยทุกฉบับ
ผ่อนผันการเรียกพล ใช้หลักฐานอะไรบ้าง?
- สำเนาใบสำคัญ (แบบ สด.8) จำนวน 3 ชุด
- สำเนาหมายเรียกพล (ถ้ามี) จำนวน 3 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 3 ชุด
- สำเนาหลักฐานการเปลี่ยน ชื่อ-ชื่อสกุล (ถ้ามี) จำนวน 3 ชุด
- สำเนาบัตรนักศึกษา จำนวน 3 ชุด
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 3 ชุด
หมายเหตุ : ต้องสำเนาให้ชัดเจนพร้อมลงนามรับรองสำเนาด้วยทุกฉบับ
หนีเกณฑ์ทหาร มีโทษอะไรบ้าง?
มีตั้งแต่โทษที่เกี่ยวข้องกับการทำเอกสารที่เจ้าหน้าที่ออกให้ชำรุดเสียหาย จนถึงโทษที่เกี่ยวข้องกับการไม่มารายงานตัว อายุความของโทษหนีทหาร มีอายุความ 10 ปี เพราะฉะนั้นควรไปรายงานตัวหรือยื่นผ่อนผันตามความเหมาะสม
ทั้งนี เมื่อไปรับการคัดเลือกเกณฑ์ทหารในวันและเวลาที่กำหนด หรือยื่นผ่อนผัน ขอยกเว้นการเกณฑ์ทหาร จะได้รับเอกสารรับรองผลการตรวจคัดเลือก หากใครไม่ได้อยู่เกณฑ์ทหารจนจบกระบวนการจะไม่ได้รับเอกสารนี้ นอกจาก จะมีผลต่อการสมัครงานในอนาคตแล้ว ยังได้รับโทษปรับและจำคุกได้อีก
สำหรับรายละเอียดในการตรวจเลือกรวมถึงข้อสงสัยและข้อควรปฏิบัติอื่น ๆ สามารถสอบถามได้ที่ สัสดีเขต/อำเภอ สัสดีจังหวัด หรือ กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน โทรศัพท์ 0 2223 3259, 0 2221 8814, 0 2223 3421 ทางเว็ปไซต์ www.tdc.mi.th, http:/sassadee.rta.mi.th และ Facebook กองการสัสดี
ข้อมูลและภาพ : กองทัพบก กระทรวงกลาโหม
บทความเกี่ยวกับ เกณฑ์ทหาร 2566
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
กดเลย >> community แห่งความบันเทิง
ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี