รีเซต

กัปตันอเมริกา: ข้อถกเถียงต่อความเชื่อว่าจีนกำลังสร้าง "ซูเปอร์ทหาร" แข่งกับสหรัฐฯ

กัปตันอเมริกา: ข้อถกเถียงต่อความเชื่อว่าจีนกำลังสร้าง "ซูเปอร์ทหาร" แข่งกับสหรัฐฯ
ข่าวสด
9 กุมภาพันธ์ 2564 ( 11:48 )
108
กัปตันอเมริกา: ข้อถกเถียงต่อความเชื่อว่าจีนกำลังสร้าง "ซูเปอร์ทหาร" แข่งกับสหรัฐฯ

กัปตันอเมริกา: ข้อถกเถียงต่อความเชื่อว่าจีนกำลังสร้าง "ซูเปอร์ทหาร" แข่งกับสหรัฐฯ - BBCไทยหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ระบุว่าจีนกำลังพยายามสร้าง "กัปตันอเมริกา" ในแบบของตัวเองขึ้นมา ความเป็นไปได้ของสุดยอดทหารไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด และไม่ได้มีแค่จีนที่สนใจสร้างทหารเสริมสมรรถนะของตัวเองขึ้นมา

 

การที่มีเงินทุนมหาศาล และความต้องการที่จะล้ำสมัย กองทัพหลายประเทศในโลกจึงมักสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา ตั้งแต่แบบที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดไปจนถึงนวัตกรรมแบบง่าย ๆ อย่างการใช้เทปกาวในสมรภูมิรบ ก็มาจากคำแนะนำของคนงานในโรงงานสรรพาวุธในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งมีลูกชายหลายคนทำงานในกองทัพเรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ด้วยความกังวลว่าเทปกระดาษที่ฉีกขาดง่ายซึ่งถูกใช้ในการปิดกล่องเก็บกระสุนในสมัยนั้นจะทำให้ทหารต้องพะวักพะวนขณะกำลังยิงปะทะอยู่ในสนามรบ เวสตา สเตาดต์ จึงคิดหาทางออก ด้วยการใช้เทปผ้าที่กันน้ำได้ หัวหน้าของเธอไม่สนับสนุนความคิดนี้ แต่เมื่อเธอเขียนเรื่องนี้ถึงประธานาธิบดีโรสเวลต์ เขาได้ให้ผู้ผลิตสิ่งของที่ใช้ในสงครามนำแนวคิดของเธอไปทำให้เกิดขึ้นจริง

 

ถ้าความจำเป็นทางการทหารทำให้เราได้เทปกาวเหนียว ๆ ที่ดีกว่ามาใช้งาน แล้วความจำเป็นทางทหารจะทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์อะไรขึ้นได้อีกบ้าง

 

.....................

BBC

 

ในการประกาศโครงการใหม่ในปี 2014 นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น บอกกับนักข่าวว่า "จริง ๆ แล้ว ผมมาที่นี่เพื่อที่จะประกาศว่า เรากำลังสร้างไอรอนแมน"

 

มีคนหัวเราะ แต่เขาพูดจริง กองทัพสหรัฐฯ ได้เริ่มโครงการผลิตชุดเกราะป้องกัน ที่รู้จักกันในชื่อว่า ชุดจู่โจมทางยุทธวิธีน้ำหนักเบา (Tactical Assault Light Operator Suit--Talos) หรือ ทาลอส วิดีโอโฆษณาที่คล้ายกับวิดีโอเกมเผยให้เห็นว่า ผู้สวมใส่ชุดเกราะนี้กำลังบุกเข้าไปในพื้นที่ของศัตรู กระสุนที่ยิงโดนชุดเกราะกระเด็นออกไป

 

5 ปีผ่านไปไอรอนแมนไม่ได้เกิดขึ้น โครงการนี้สิ้นสุดลง แต่ผู้ผลิตหวังว่าจะมีการนำอุปกรณ์ที่ใช้งานเฉพาะบุคคลของชุดเกราะนี้ไปใช้งานที่อื่นต่อไป

 

USSOCOM
ชุดเกราะทาลอสของสหรัฐฯ ในวิดีโอโฆษณา

 

เอ็กโซสเกเลตัน (Exoskeleton) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความหวัง ที่ทางกองทัพต่าง ๆ กำลังศึกษาเพื่อเสริมสมรรถนะให้แก่ทหาร

 

การเสริมสมรรถนะไม่ใช่เรื่องใหม่ นับตั้งแต่สมัยโบราณ มีการเสริมสมรรถนะให้แก่ทหารหลายอย่าง ทั้งด้านอาวุธ เครื่องมือ และการฝึกซ้อม

 

แต่ในปัจจุบัน การเสริมสมรรถนะอาจมีความหมายมากกว่าเพียงแค่การให้ปืนที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิมแก่ทหารแต่ละนาย มันอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงตัวทหารแต่ละนายก็ได้

 

ในปี 2017 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เตือนว่ามนุษย์อาจสร้างสิ่งที่ "เลวร้ายยิ่งกว่าระเบิดนิวเคลียร์" ขึ้นมาในอีกไม่นานนี้

 

"บางคนอาจจินตนาการไปว่า มนุษย์อาจสร้างมนุษย์ที่มีลักษณะนิสัยบางอย่างติดตัวมา ไม่ใช่เพียงแค่ตามหลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้งานได้จริงด้วย เขาอาจจะเป็นนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะ นักดนตรีที่ยอดเยี่ยม หรือทหารที่สามารถต่อสู้โดยปราศจากความกลัว ความเห็นอกเห็นใจ ความเสียใจ หรือความเจ็บปวดใด ๆ"

 

Getty Images

ปีที่แล้ว จอห์น รัตคลิฟฟ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ (Office of Director of the National Intelligence--ODNI) กล่าวหาจีนไปไกลยิ่งกว่านั้น

 

"จีนได้ทำการทดลองในมนุษย์โดยใช้สมาชิกกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน โดยหวังว่าจะพัฒนาทหารที่มีการเสริมสร้างขีดความสามารถในทางชีวภาพ ไม่มีขอบเขตทางจริยธรรมสำหรับความต้องการไขว่คว้าอำนาจของรัฐบาลจีน" เขาเขียนไว้ในเดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล

 

จีนตอบโต้ว่าบทความของเขาว่า "โกหกทั้งเพ"

เมื่ออาวรีล เฮนส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ คนใหม่ ถูกถามว่าเธอเห็นด้วยกับการประเมินของนายรัตคลิฟฟ์หรือไม่ เธอตอบว่ายังไม่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ แต่ ได้เตือนถึงภัยคุกคามที่มาจากจีน

 

 

ขณะที่รัฐบาลของนายโจ ไบเดน ล้มเลิกหลายสิ่งหลายอย่างที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำไว้ แต่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนน่าจะยังมีส่วนสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ

 

ความทะเยอทะยานกับความเป็นจริง

การมีสุดยอดทหารในกองทัพ เป็นสิ่งที่น่าเย้ายวนใจของกองทัพต่าง ๆ ลองนึกดูว่า ทหารนายหนึ่งที่สามารถทนทานกับความเจ็บปวด อากาศที่หนาวเย็นสุดขั้ว หรือไม่จำเป็นต้องนอนหลับพักผ่อน แต่ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีอาจฉุดรั้งความทะเยอทะยานนั้นกลับลงมาสู่พื้นดิน อย่างที่เกิดขึ้นกับความพยายามของสหรัฐฯ ในการสร้าง "ไอรอนแมน"

 

รายงานในปี 2019 จากนักวิชาการสหรัฐฯ 2 คน ระบุว่า กองทัพจีน "กำลังสำรวจ" เทคนิคต่าง ๆ อย่างการตัดต่อพันธุกรรม เอ็กโซสเกเลตัน และการผสานกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร รายงานนี้มาจากความเห็นของนักยุทธศาสตร์ทางทหารของจีนเป็นหลัก

เอลซา คาเนีย หนึ่งในผู้เขียนรายงาน กังขาเกี่ยวกับความเห็นของนายรัตคลิฟฟ์

 

"เป็นเรื่องสำคัญในการทำความเข้าใจสิ่งที่กองทัพจีนกำลังหารือกันอยู่และกำลังต้องการทำให้เกิดขึ้นจริง แต่ก็ต้องยอมรับถึงความห่างไกลระหว่างความทะเยอทะยานกับความเป็นจริงที่เทคโนโลยีเป็นอยู่ในขณะนี้ด้วย" นางคาเนีย นักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์เพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกัน(Center for a New American Security) กล่าว

 

"แม้ว่ากองทัพทั่วโลกอาจจะค่อนข้างสนใจในความเป็นไปได้ของสุดยอดทหาร... แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เป็นไปได้ภายในขอบเขตของวิทยาศาสตร์ก็มีส่วนในการยับยั้งความพยายามที่จะผลักดันขอบเขตนี้ออกไป"

นายรัตคลิฟฟ์กำลังหมายถึงการทดลองในมนุษย์ แม้ว่าลักษณะนิสัยบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์ได้โดยการตัดต่อพันธุกรรม การแก้ไขดีเอ็นเอของตัวอ่อนจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในการสร้าง "ซูเปอร์ทหาร" ขึ้น

ดร.เฮเลน โอ'นีลล์ นักพันธุศาสตร์โมเลกุล จากยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า คำถามน่าจะอยู่ที่นักวิทยาศาสตร์จะพร้อมใช้เทคโนโลยีนี้หรือไม่ มากกว่าเทคโนโลยีนี้เป็นไปได้หรือไม่

 

"เทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งการตัดต่อจีโนม และการผสานจีโนมกับการเจริญพันธุ์ภายใต้การช่วยเหลือ กำลังกลายเป็นแนวทางที่ถูกใช้ในการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมและการเกษตร มันเป็นเพียงการผสานกันระหว่างสองสิ่งเพื่อการใช้งานในมนุษย์ที่ถูกมองว่า ขัดต่อจริยธรรมในขณะนี้"

 

...............................
BBC

 

ในปี 2018 เฮ่อ เจี้ยนขุย นักวิทยาศาสตร์จีนออกประกาศที่น่าตกตะลึง เขาบอกว่า เขาประสบความสำเร็จในการแก้ไขดีเอ็นเอในตัวอ่อนของฝาแฝดหญิงเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเธอติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

การพัฒนานี้ได้ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น ประเทศส่วนใหญ่ห้ามการตัดต่อพันธุกรรมเช่นนี้ รวมถึงจีนด้วย ปกติการทำเช่นนี้จะจำกัดอยู่เฉพาะตัวอ่อนจากการทำเด็กหลอดแก้วที่ถูกคัดทิ้ง และตัวอ่อนเหล่านี้จะต้องถูกทำลายทันทีในภายหลัง จะต้องไม่ถูกนำไปใช้ในการทำให้เกิดทารกขึ้นมา

 

นักวิทยาศาสตร์คนนี้ปกป้องสิ่งที่เขาค้นพบ แต่สุดท้ายเขาก็ถูกจำคุกจากการฝ่าฝืนข้อห้ามของทางรัฐบาล

ผู้ที่ให้สัมภาษณ์ลงบทความนี้หลายคนพาดพึงถึงกรณีของนายเฮ่อ เจี้ยนขุย ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญในด้านพันธุจริยศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้รายงานว่า การที่ปกป้องทารกแฝดจากการติดเชื้อเอชไอวี ถือเป็นการเสริมสร้างทางปัญญาที่การรักษาของเขาทำให้เกิดขึ้น

 

เฮ่อ เจี้ยนขุย ได้ใช้เทคโนโลยีคริสเปอร์ (Crispr) ในการให้กำเนิดฝาแฝดดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งเป็นวิธีที่มีการแก้ไขดีเอ็นเอในเซลล์สิ่งมีชีวิตเฉพาะจุดอย่างแม่นยำ ทำให้มีการกำจัดคุณสมบัติบางอย่างออกไป และเพิ่มคุณสมบัติอื่นเข้ามาได้

วิธีนี้มีความหวังว่า อาจจะใช้ในการรักษาหรือถึงขั้นกำจัดโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แล้วทหารจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ทำอะไรได้

 

คริสตอฟ กาลิเชต์ นักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโส ที่สถาบันฟรานซิส คริก (Francis Crick Institute) ในกรุงลอนดอน เรียก คริสเปอร์ ว่า "การปฏิวัติ"

แต่เขาบอกว่า ยังมีข้อจำกัดอีกมาก เขาเปรียบเทียบเทคนิคนี้กับเครื่องมือค้นหาและแทนที่ข้อความ คุณสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงข้อความเฉพาะบางข้อความได้อย่างง่ายดาย แต่ข้อความที่แก้ไขอาจจะเหมาะสมในจุดหนึ่ง แต่ในอีกจุดหนึ่งอาจจะดูไม่เข้าทีก็เป็นได้

 

"เป็นเรื่องผิดที่คิดว่า ยีนหนึ่งตัวจะส่งผลกระทบเพียงหนึ่งอย่าง" เขากล่าว "ถ้าคุณนำยีนออกไป 1 ตัว คุณอาจจะทำให้คนคนหนึ่งมีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น หรือสามารถที่จะหายใจได้ดีขึ้นในที่ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล แต่มันก็อาจจะทำให้คนคนนั้นเป็นมะเร็งได้ในเวลาต่อมา"

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแยกคุณสมบัติบางอย่างออกไป ยกตัวอย่างเช่น ยีนที่เกี่ยวข้องกับความสูงมีหลายตัว และการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติใด ๆ ก็จะส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปด้วย

 

...........................
BBC

 

นักวิเคราะห์บางคนเห็นความพยายามของจีนว่าเป็นการตอบโต้โดยตรงกับสหรัฐฯ รายงานในปี 2017 ใน เดอะ การ์เดียน ระบุว่า หน่วยงานทางทหารแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ กำลังลงทุนหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเทคโนโลยีการทำลายทางพันธุกรรม ที่สามารถกำจัดสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเตือนว่า อาจจะมีการนำไปใช้ทางการทหาร

 

จีนและสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นเพียงสองประเทศที่กำลังช่วงชิงความได้เปรียบ กองทัพของฝรั่งเศสได้รับการอนุมัติให้พัฒนา "ทหารเสริมสมรรถนะ" แล้วเช่นกัน โดยมีเอกสารที่ระบุถึงขอบเขตทางจริยธรรมในการทำวิจัยนี้

 

นางฟลอรองซ์ พาร์ลี รัฐมนตรีกลาโหมของฝรั่งเศส กล่าวว่า "เราต้องยอมรับความจริง ไม่ใช่ทุกคนที่คำนึงถึงศีลธรรมเช่นเดียวกับเรา และเราต้องเตรียมพร้อมสำหรับทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต"

 

PA Media
พันธุศาสตร์อาจจะทำให้ทหารรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายได้ดีขึ้น

 

ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์อาจจะพัฒนาคุณสมบัติบางอย่างของคนขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย แต่การนำไปใช้งานในวงการทหารก็ทำให้กลายเป็นปัญหาขึ้นมาได้

ยกตัวอย่าง ทหารแต่ละนายสามารถที่จะยินยอมเข้ารับการรักษาที่มีความเสี่ยงภายในโครงสร้างการบังคับบัญชาของกองทัพได้อย่างอิสระหรือไม่ มีรายงานว่า ทั้งจีนและรัสเซียได้ทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กับทหารของตัวเอง

 

"กองทัพไม่ได้มีไว้เพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของทหาร มันมีไว้เพื่อชิงความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์หรือชนะสงคราม" ศ.จูเลียน ซาวูเลสกู ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกล่าว

"มีข้อจำกัดหลายอย่างที่คุณอาจทำให้ทหารต้องรับความเสี่ยง แต่ยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้นไปอีกเมื่อต้องทำให้สังคมปกติมีความเสี่ยงเหล่านั้น"

 

ศ.ซาวูเลสกู กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนในการชั่งน้ำหนักความเสี่ยงของการเสริมสมรรถนะกับผลดีที่ได้รับ

"แต่แน่นอน" เขากล่าวเพิ่มเติม "สมการนี้แตกต่างไปในกองทัพ บุคคลจะทนทานกับความเสี่ยง แต่มักจะไม่ใช่ข้อดี"

 

...................

BBC

 

ทหารตกอยู่ในสถานการณ์ความเป็นความตาย และอาจจะคิดว่า การเสริมสร้างสมรรถนะเป็นเรื่องน่ายินดี ถ้ามันทำให้พวกเขามั่นใจได้ว่าจะมีชีวิตรอด

แต่ ศ.แพทริก หลิน นักปรัชญาที่มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า มันไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น

 

"การเสริมสมรรถนะทางการทหารหมายถึงการทดลองและการทำให้พลเมืองของตัวเองต้องรับความเสี่ยง ดังนั้นจึงไม่แน่ชัดว่า ทหารเสริมสมรรถนะจะได้รับการปกป้องดีขึ้นมากแค่ไหน ในทางตรงกันข้าม พวกเขาอาจจะถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจที่อันตรายมากยิ่งขึ้น หรือมีความเสี่ยงมากกว่าที่ทหารที่ไม่ได้รับการเสริมสมรรถนะได้รับ"

 

...................

 

กัปตัน อเมริกา อาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่มีความเป็นไปได้เสมอในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้น

"มันเป็นเรื่องยากในควบคุมทางจริยธรรมหรือการควบคุมทางประชาธิปไตยเกี่ยวกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในกองทัพ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มันจะต้องเก็บเป็นความลับและเป็นเรื่องส่วนตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ" ศ.ซาวูเลสกู กล่าว

 

"ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องยากในทางจริยธรรม ปัจจุบันในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ซึ่งเปิดรับสิ่งต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล ก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว"

ศ. หลิน บอกว่า สิ่งที่อาจทำได้หรือสมควรทำในการควบคุมวงการนี้ "ความท้าทายที่สำคัญคือ เกือบทุกอย่างในเรื่องนี้เป็นการวิจัยที่มีการใช้งานสองทาง ยกตัวอย่าง การวิจัยเอ็กโซสเกเลตัน ตอนแรกมีเป้าหมายในการช่วยเหลือ หรือรักษาคนที่มีอาการเจ็บป่วย อย่างเช่น ช่วยเหลือผู้ป่วยอัมพาตให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง"

 

Fonds de dotation Clinatec
เอ็กโซสเกเลตัน ที่ควบคุมด้วยจิตใจ ทำให้ชายที่เป็นอัมพาตกลับมาเดินได้อีกครั้ง

 

"แต่การใช้งานในทางการแพทย์นี้ก็อาจถูกนำไปเป็นอาวุธได้อย่างง่ายดายและมันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะป้องกันไม่ให้เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งหมายความว่า มันไม่มีความชัดเจนว่า จะควบคุมเรื่องนี้อย่างไร โดยปราศจากการออกกฎเกณฑ์กว้าง ๆ คลุมไว้ ซึ่งก็จะสร้างความหงุดหงิดให้กับการวิจัยทางการแพทย์"

ดร.โอ'นีลล์ ระบุว่า จีนมีความรุดหน้าในด้านการวิจัยทางพันธุศาสตร์ และหลายประเทศเสียเปรียบจีนอยู่ในขณะนี้

 

"ฉันคิดว่า เราเสียเวลากับการถกเถียงเรื่องจริยศาสตร์กันมาก แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ความเป็นจริงในปัจจุบัน" เธอกล่าว

"ใช้พลังงานมากเกินไปกับการคาดเดาและโลกที่ไม่พึงปรารถนา ใช้พลังงานมากขึ้นไปอีกกับความเสี่ยงต่าง ๆ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อที่จะได้เข้าใจมันดีขึ้น เพราะจะมีการทำมันขึ้นในที่อื่น หรือกำลังมีการทำมันอยู่ในที่อื่น มีเพียงแค่การวิจัยอย่างต่อเนื่องเท่านั้น เราจึงจะเข้าใจได้ว่า จุดไหนที่อาจจะเป็นข้อผิดพลาด"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง