รีเซต

AUKUS : สหรัฐฯ จะช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ถ่วงดุลอิทธิพลจีน

AUKUS : สหรัฐฯ จะช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ถ่วงดุลอิทธิพลจีน
ข่าวสด
17 กันยายน 2564 ( 00:34 )
87
AUKUS : สหรัฐฯ จะช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ถ่วงดุลอิทธิพลจีน

 

สหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ประกาศข้อตกลงด้านความมั่นคงครั้งประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งถูกมองว่า เป็นความพยายามในการคานอำนาจกับจีน

 

 

ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าความร่วมมือนี้สะท้อนความพยายามของมหาอำนาจตะวันตกที่กำลังเปิดฉากช่วงชิงเอเชีย และเตือนผู้นำรัฐบาลไทยอย่าเลือกข้าง เพราะ "ไม่มีผู้นำรัฐมหาอำนาจไหน เป็นนักบุญให้เรา"

 

 

จากข้อตกลงนี้ ออสเตรเลียจะสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ

 

 

ข้อตกลงนี้ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Aukus จะครอบคลุมด้านปัญญาประดิษฐ์, ไซเบอร์ และเทคโนโลยีควอนตัม ด้วย

 

 

นักวิเคราะห์บอกว่า นี่คือความร่วมมือด้านกลาโหมที่ใหญ่ที่สุดของทั้ง 3 ประเทศนี้ในรอบหลายสิบปี

 

ในช่วงไม่กี่ปีนี้ ประเทศประชาธิปไตยในตะวันตก ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแสดงอำนาจทางทหารที่เพิ่มขึ้นของจีนในอินโด-แปซิฟิก

 

 

แถลงการณ์ร่วมของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร และนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ระบุว่า ความร่วมมือใหม่นี้ ตั้งเป้าที่จะ "ส่งเสริมความมั่นคงและความรุ่งเรือง" ในภูมิภาค

 

 

สถานทูตจีนในกรุงวอชิงตัน มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ด้วยการกล่าวหาทั้ง 3 ประเทศว่า "มีแนวคิดในยุคสงครามเย็นและมีอคติ"

 

 

ข้อตกลงนี้ทำให้ออสเตรเลียต้องฉีกสัญญามูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) ที่ลงนามกับฝรั่งเศสในปี 2016 ให้สร้างเรือดำน้ำ 12 ลำ

 

 

Aukus คืออะไร

นักวิเคราะห์ระบุว่า Aukus คือข้อตกลงด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดระหว่างทั้ง 3 ชาติ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

แม้ว่า สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย เป็นพันธมิตรกันมายาวนานแล้ว แต่ Aukus ทำให้ความร่วมมือด้านกลาโหมของทั้ง 3 ชาติ มีความลึกซึ้งมากขึ้นและเป็นทางการ

 

 

ข้อตกลงนี้จะมุ่งเน้นไปที่ขีดความสามารถทางการทหาร โดยแยกออกมาจากพันธมิตรแลกเปลี่ยนข่าวกรองไฟว์อายส์ (Five Eyes) ซึ่งรวมถึงนิวซีแลนด์และแคนาดาด้วย

 

 

นอกจากเรือดำน้ำของออสเตรเลียแล้ว Aukus จะยังมีการแลกเปลี่ยนขีดความสามารถทางไซเบอร์, เอไอ, ควอนตัม และเทคโนโลยีใต้น้ำอื่น ๆ ระหว่างกันด้วย

 

 

แถลงการณ์ร่วมระบุว่า "นี่คือโอกาสครั้งประวัติศาสตร์สำหรับทั้ง 3 ชาติ และหุ้นส่วนและพันธมิตรที่มีความคิดตรงกัน ในการปกป้องคุณค่าร่วมกันและส่งเสริมความมั่นคงและความรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก"

 

 

ผู้นำทั้ง 3 ชาติ ไม่ได้เอ่ยถึงจีนโดยตรง แต่ระบุว่า ความมั่นคงในภูมิภาคมีความท้าทาย "เพิ่มขึ้นอย่างมาก"

 

 

ที่มาของความร่วมมือ

ขีดความสามารถทางการทหารและความแข็งกร้าวที่เพิ่มขึ้นของจีน ได้ทำให้มหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งกังวลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

 

รัฐบาลจีนถูกกล่าวหาว่า ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นบริเวณดินแดนที่เป็นข้อพิพาทต่าง ๆ อย่าง ทะเลจีนใต้

 

 

จีนยังได้ลงทุนมหาศาลในกองเรือลาดตระเวนชายฝั่ง (Coast Guard) ในช่วงไม่กี่ปีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่า ในทางพฤตินัยมันคือกองเรือทหารของจีน

 

 

ชาติตะวันตกหลายชาติกังวลต่อการลงทุนของจีนตามเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก และการคว่ำบาตรทางการค้าที่จีนกระทำต่อหลายประเทศ อย่าง ออสเตรเลีย

 

 

สหรัฐฯ และออสเตรเลีย เรียกการทำเช่นนี้ว่า "การข่มขู่ทางเศรษฐกิจ"

 

 

หลังข่าวความร่วมมือแพร่ออกไป โฆษกสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันแถลงว่าชาติต่าง ๆ "ไม่ควรสร้างกลุ่มเฉพาะตัว"

 

 

ขณะที่นิวซีแลนด์ ระบุว่า จะห้ามเรือดำน้ำของออสเตรเลียไม่ให้เข้ามาในน่านน้ำของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับเรือดำน้ำขับเคลื่อนพลังงานนิวเคลียร์

 

 

นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น กล่าวว่า นิวซีแลนด์ไม่ได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมในข้อตกลงนี้

 

 

ทำไมต้องเป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

เรือดำน้ำเหล่านี้เร็วกว่าและตรวจจับได้ยากกว่าเรือดำน้ำที่ใช้พลังงานแบบดั้งเดิม พวกมันสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานหลายเดือน เดินทางได้ไกลกว่าและบรรทุกน้ำหนักได้มากกว่า

 

 

นักวิเคราะห์ระบุว่า การมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ประจำการอยู่ในออสเตรเลียมีความสำคัญต่ออิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ถือเป็นการแบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีนี้กับสหราชอาณาจักรเท่านั้น

 

 

ออสเตรเลียจะกลายเป็นชาติที่ 7 ในโลกที่มีเรือดำน้ำขับเคลื่อนพลังงานนิวเคลียร์ต่อจากสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, จีน, อินเดีย และรัสเซีย

 

 

สัญญาของออสเตรเลียกับฝรั่งเศสได้รับผลกระทบจากความล่าช้าเนื่องจากข้อเรียกร้องของรัฐบาลออสเตรเลียที่ต้องการให้มีการหาชิ้นส่วนต่าง ๆ จากในประเทศ

 

 

ออสเตรเลียยืนยันแล้วว่า ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์

 

 


บทวิเคราะห์

โดยโจนาธาน บีล ผู้สื่อข่าวกลาโหม

BBC

รัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุว่า นี่คือข้อตกลงด้านกลาโหมที่มีความสำคัญมาก ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ผู้นำทั้งของอังกฤษ สหรัฐฯ และออสเตรเลียได้ปรากฏตัวพร้อมกันผ่านทางวิดีโอเพื่อประกาศความร่วมมือนี้ นอกจากนี้ยังเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มีต่อสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

 

 

ข้อตกลงนี้จะส่งผลกระทบต่ออีก 2 ประเทศ ประเทศแรกคือ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพันธมิตรนาโต ที่ลงนามในข้อตกลงสร้างกองเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซลและไฟฟ้าให้แก่กองทัพเรือออสเตรเลีย โดยขณะนี้ข้อตกลงนี้สิ้นสุดลงแล้ว

 

 

ประเทศที่สองคือ จีน แม้ว่าเจ้าหน้าที่ทางการอังกฤษยืนกรานว่า ข้อตกลงกลาโหมใหม่นี้ไม่ได้เป็นการตอบโต้ประเทศใดประเทศหนึ่ง รัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่า ข้อตกลงนี้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความรุ่งเรือง ความมั่นคง และเสถียรภาพ ในภูมิภาคและสนับสนุน "การจัดระเบียนบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ" อย่างสันติ และข้อตกลงนี้ก็แสดงออกอย่างเปิดเผยว่า อังกฤษ สหรัฐฯ และออสเตรเลีย มีความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารของจีนในอินโด-แปซิฟิก

 

 

ศ. สุรชาติ บำรุงสุข เตือนไทยอย่าเลือกข้าง

ศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า Aukus อาจเป็นผลพวงด้านหนึ่งจากการแตกของอัฟกานิสถาน เพราะก่อนที่กรุงคาบูลแตก ภาพที่ผู้คนตื่นตกใจหรือตื่นเต้นคือภาพที่ผู้นำตาลีบันเข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าเมื่อไรที่สหรัฐฯ ถอนกำลังออก จีนจะมาสวมบทบาทแทน

 

 

 

"พอเป็นเช่นนี้ ทำให้เอเชียกลายเป็นจุดหนึ่งของการขับเคลื่อนและแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจ เอเชียจะเป็นพื้นที่หลักนับจากนี้ และความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนด้วย" ศ. ดร. สุรชาติวิเคราะห์

 

 

แม้การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ตามความเห็นของอาจารย์สุรชาติ ทว่าถ้าย้อนไปในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็น ศูนย์กลางการแข่งขันจะอยู่ในยุโรป แต่ในศตวรรษที่ 21 เป็น "ศตวรรษเอเชีย" (Asian Century)

 

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศและความมั่นคง ศ. ดร. สุรชาติพบว่าโจทย์ที่ชัดเจนในเวทีโลกคือการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งอาจมีความผันผวนไปบ้างในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ (2016-2020) โดยย้ายไปปะทุที่การทำสงครามทางการการค้า (Trade War) แทนการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์

 

 

ข้อเสนอที่เกิดขึ้นในยุคทรัมป์คือ การจัดตั้งพันธมิตรใหม่ที่นักวิชาการรายนี้เรียกว่า "จตุรมิตร" หรือ The Quad ประกอบด้วย สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย โดยขยายจากเอเชีย-แปซิฟิก ไปสู่อินโด-แปซิฟิก มีเป้าหมายสำคัญเพื่อรับมือกับการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านโครงการเส้นทางไหม (Belt and Road Initiative - BRI)

 

 

ความร่วมมือของกลุ่ม Aukus ในเรื่องเรือดำน้ำ จะส่งผลต่อนโยบายจัดซื้อเรือดำน้ำของจีนที่รัฐบาลไทยดำเนินการอยู่หรือไม่นั้น อาจารย์สุรชาติบอกว่า เขาเคยประกาศจุดยืนคัดค้านการจัดซื้อเรือดำน้ำของไทยมาตลอด ตั้งแต่ปี 2538 ที่กองทัพเรือ (ทร.) มีแผนจัดซื้อเรือดำน้ำจากสวีเดน ก่อนต้องพับไปในขณะนั้น เขาเห็นว่า เรือดำน้ำไม่ใช่ความจำเป็นสำหรับราชนาวีไทย ไม่ได้ตอบโจทย์เงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ของรัฐไทย เพราะรัฐไทยไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งในทะเลหลวงซึ่งเป็นทะเลชั้นนอก แต่เราอาจมีความจำเป็นต้องมีเรือรบซึ่งเป็นเรือบนผิวน้ำ เพื่อแก้ปัญหาการค้าค้ามนุษย์ โจรสลัดในภูมิภาค

 

ทว่า 20 ปีผ่านไป ก็มีปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้ามา และหลังรัฐประหาร 2557 ไทยตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำจีน ซึ่งในมุมมองของผู้ศึกษาเรื่องนโยบายด้านความมั่นคงและการทหาร การตัดสินใจซื้ออาวุธใหญ่ ๆ มันมีนัยเท่ากับการเลือกข้าง หรือการแสดงจุดยืนของการเป็นพันธมิตร

 

 

"เราตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำ อาจด้วยเงื่อนไขความใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกรุงเทพฯ กับรัฐบาลปักกิ่งหลังรัฐประหาร 2557 แปลว่ารัฐประหารครั้งนั้นสร้างเรื่องที่ใหญ่ที่สุดก็คือการปรับทิศทางนโยบายทางยุทธศาสตร์ของรัฐไทย โดยหมุนแกนกลางของรัฐไทยให้เชื่อมกับปักกิ่งอย่างใกล้ชิดมากขึ้น" อาจารย์สุรชาติ ให้ความเห็น

 

 

"ผมไม่ได้หมายความว่าเราต้องรักษาความใกล้ชิดกับรัฐบาลวอชิงตันตลอดไปโดยไม่คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่โจทย์สำคัญของเราคือ ผู้นำรัฐบาลไทยทั้งระดับทหารและกระทรวงการต่างประเทศต้องรู้ว่าบทเรียนในประวัติศาสตร์ไทย ไทยไม่มีสิทธิเลือกข้าง หรือเข้าไปยืนกับอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนสุดท้ายการเลือกข้าง เป็นการทำลายผลประโยชน์ของรัฐไทยเอง"

 

 

บทเรียนที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์รายนี้หยิบยกขึ้นมาเตือนความทรงจำของรัฐไทย หนีไม่พ้น กรณีไทยประกาศยืนเคียงข้างญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ความโชคดีเดียวที่เกิดขึ้นคือ "ญี่ปุ่นแพ้ ไทยไม่แพ้ เพราะสหรัฐฯ พยายามคานแรงกดดันของอังกฤษที่ไม่ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรถือว่าไทยเป็นรัฐผู้แพ้สงคราม"

 

 

ศ.ดร. สุรชาติมองว่า โจทย์วันนี้ไม่ต่างโจทย์นโยบายการเมืองและความมั่นคงของรัฐไทยในอดีต แต่วันนี้ผู้นำรัฐไทยในปัจจุบันอาจมองไม่ค่อยเห็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์ของบ้านตัวเอง หรือประวัติศาสตร์ของพี่น้องในภูมิภาคเอเชีย

 

 

"เราไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้วอชิงตัน พอ ๆ กับที่เราไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ปักกิ่ง... ไม่มีผู้นำรัฐมหาอำนาจไหน เป็นนักบุญให้เรา แต่ถ้าเราเชื่อแบบนั้น เราจะมีอาการเหมือนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในสงครามโลกครั้งที่สอง เชื่อว่าสุดท้ายฉันเกาะขบวนรถไฟญี่ปุ่นดีกว่า ถ้าญี่ปุ่นชนะ ไทยจะยิ่งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" อาจารย์สุรชาติกล่าว

 

 

แม้โดยสถานะทางพื้นที่ ไทยมีความสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่สิ่งที่ปรากฏในระหว่างการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้ ศ.ดร. สุรชาตินำมาตั้งคำถามต่อขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของรัฐไทย เพราะในอดีตผู้นำสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับไทยเสมอ หรือวันนี้ไทยคิดว่าวิธีการดีที่สุดคือไทยจะทำตัวแบบไม่อยู่ในสปอตไลต์ของใคร และเชื่อว่าเราจะเอาตัวรอดได้ แต่ขณะเดียวกันก็แปลว่าไม่มีใครให้ความสำคัญกับไทยเลย แล้วสถานะไทยในการเมืองระหว่างประเทศจะอยู่อย่างไรในอนาคต

 

 

"ผู้นำไทยในอนาคตต้องถือโจทย์การเมืองระหว่างประเทศเป็นสิ่งต้องเรียนรู้และเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ ไม่ใช่เราตกขบวน เราอาจตอบว่าเพราะเราตัดสินใจไม่ขึ้นเอง หรือเขาไม่ให้เราขึ้น เพราะมองว่าเราเป็นประเทศไร้ค่าในการเมืองระหว่างประเทศ จุดนั้นคือจุดที่น่ากลัว กระทรวงการต่างประเทศต้องตระหนักว่าประเทศไทยไม่เคยมีสถานะไร้ค่าทางการเมืองแบบที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน" ศ.ดร. สุรชาติกล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง