รีเซต

ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผุดไอเดียจรวดความเร็วเหนือเสียงราคาสบายกระเป๋า !

ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผุดไอเดียจรวดความเร็วเหนือเสียงราคาสบายกระเป๋า !
TNN ช่อง16
14 สิงหาคม 2567 ( 13:36 )
15

ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผู้ผลิตอาวุธชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา เผยการพัฒนาโครงการมาโค (Mako) อาวุธจรวดความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic missile) ที่มีราคาเข้าถึงได้ หลังจากเริ่มพัฒนามาตั้แต่ปี 2017 พร้อมความสามารถใช้ได้กับยุทโธปกรณ์ทางการทหารหลากหลายชนิด


รายละเอียดจรวดความเร็วเหนือเสียงราคาสบายกระเป๋า

มาโค (Mako) ตั้งชื่อตามสายพันธุ์ฉลามที่เร็วที่สุดในมหาสมุทร เป็นจรวดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 33 เซนติเมตร ยาว 4 เมตร มีน้ำหนักเปล่าอยู่ที่ 590 กิโลกรัม รองรับสิ่งของ (Payload) ซึ่งอาจเป็นอุปกรณ์หรือวัตถุระเบิดได้อีกไม่เกิน 59 กิโลกรัม ในขณะที่รายละเอียดอื่น ๆ เช่น ความเร็วสูงสุด ระยะการยิง รวมไปถึงราคาซึ่งเป็นจุดเด่นหลักของโครงการ Mako ยังไม่ได้รับการเปิดเผยจาก Lockheed Martin แต่อย่างใด


โดย Mako ได้รับการออกแบบให้เป็นจรวดความเร็วเหนือเสียงที่ตั้งเป้าให้มีราคาเข้าถึงได้ เคยเข้าร่วมการประมูลโครงการพัฒนาจรวดให้กับกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา (USAF) ในปี 2017 มาก่อน ซึ่งในปัจจุบันได้รับการต่อยอดให้รองรับเครื่องบินรบหลากหลายรุ่น เช่น F-22, F-35 ทุกรุ่นย่อย (F-35A,F-35B,F-35C) รวมถึง F-16, และ F-15 หรือแม้แต่ P-8 เครื่องบินตรวจการณ์ต่อต้านเรือดำน้ำของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา (US Navy) ตลอดจนรองรับการปรับแต่งให้ใช้งานกับเรือและเรือดำน้ำได้ด้วยเช่นกัน


การลดต้นทุนจรวดความเร็วเหนือเสียง

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่ Lockheed Martin เชื่อว่าเป็นกุญแจในการทำให้ Mako มีต้นทุนที่ต่ำลงคือขั้นตอนการออกแบบและพัฒนาที่ทำผ่านระบบดิจิทัลหรือฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twin) แทนการทดสอบจริง ภายใต้ซอฟต์แวร์ที่ Lockheed Martin มองว่าละเอียดและสามารถเชื่อถือได้ 


ในขณะเดียวกัน การผลิตชิ้นส่วนระบบนำวิถี (Guidance system) และปีกส่วนหาง (Fin) จะผลิตขึ้นจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทำให้ทั้งสองส่วน มีต้นทุนเหลือเพียง 1 ใน 10 ของจรวดที่ผลิตในปัจจุบัน และยังลดเวลาการผลิตไปอีก 10 เท่า 


โดย TNN Tech มองว่า ถ้าหาก Mako สามารถใช้งานได้กับทั้งเครื่องบินรบ เครื่องบินตรวจการณ์ติดอาวุธ เรือ หรือแม้แต่เรือดำน้ำได้จริง ก็จะเป็นลดความหลากหลายในระบบจรวดสำหรับกองทัพ ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและบำรุงรักษาไปในตัว อีกทั้งยังทำให้แต่ละเหล่าทัพใช้จรวดรุ่นเดียวกันเพื่อเพิ่มอัตราสำรองร่วมกันได้ด้วยเช่นกัน



ข้อมูลจาก New Atlas

ภาพจาก Lockheed Martin

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง