รีเซต

โควิด-19 : จีนกับความพยายามแพร่ข่าวปลอมเรื่องโควิดมีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ

โควิด-19 : จีนกับความพยายามแพร่ข่าวปลอมเรื่องโควิดมีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ
ข่าวสด
24 สิงหาคม 2564 ( 08:40 )
62
โควิด-19 : จีนกับความพยายามแพร่ข่าวปลอมเรื่องโควิดมีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ

 

การระดมเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่กล่าวหาว่าเชื้อโรคโควิด-19 มีต้นกำเนิดมาจากฐานทัพทหารในรัฐแมริแลนด์ กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในจีน ก่อนหน้าที่หน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ จะเปิดเผยรายงานการสอบสวนเรื่องต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสชนิดนี้

 

 

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้สั่งการให้เปิดการสอบสวน 90 วัน เพื่อหาว่าเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 นั้น เกิดจากอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (ห้องแล็บ) หรือเกิดจากการที่มนุษย์สัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ

 

 

ในตอนนั้น ทฤษฎีเรื่อง "ไวรัสหลุดจากห้องแล็บอู่ฮั่น" ถูกนักวิทยาศาสตร์หลายคนระบุว่าเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิด

 

แต่ก่อนหน้าที่รายงานการสอบสวนชิ้นล่าสุดของสหรัฐฯ จะถูกเผยแพร่ออกมา จีนได้ใช้กลยุทธ์ตอบโต้ต่าง ๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และฝ่ายทำงานด้านโฆษณาชวนเชื่อต่างระดมเผยแพร่ข้ออ้างที่ไม่มีมูลความจริงว่าโควิด-19 ถูกสร้างขึ้นในสหรัฐฯ

 

 

กลยุทธ์ดังกล่าวมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่เพลงแร็พไปจนถึงการโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดีย แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความพยายามโฆษณาชวนเชื่อนี้อาจใช้ได้ผลในหมู่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เกิดความสงสัยในเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนานาชาติเรื่องการจัดการโรคระบาดของรัฐบาลจีน แต่นี่กลับไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้กับจีนในสายตาประชาคมโลก

 

 

ข้อกล่าวหาว่าอย่างไร

คนอเมริกันส่วนใหญ่อาจไม่เคยได้ยินชื่อของ ฟอร์ต ดีทริค (Fort Detrick) แต่ชื่อนี้กลับเป็นที่คุ้นหูของคนจีนจำนวนมาก

ฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของจีนได้เผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดที่ว่าเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ถูกสร้างและหลุดออกจากห้องแล็บในฐานทัพทหารที่เมืองเฟรเดอริค รัฐแมริแลนด์ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงวอชิงตัน ดีซี ไปทางเหนือราว 80 กม.

ฐานทัพดังกล่าวเคยเป็นศูนย์โครงการอาวุธชีวภาพของสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันถูกใช้เป็นห้องแล็บที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อไวรัสต่าง ๆ อาทิ อีโบลา และไข้ทรพิษ ซึ่งประวัติที่ซับซ้อนเช่นนี้ได้นำไปสู่การคาดเดามากมายในประเทศจีน

 

 

บทเพลงหนึ่งของวงแร็พชาตินิยมของจีนที่ชื่อ CD Rev มีเนื้อหาที่บ่งชี้ว่าห้องแล็บดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของแผนการอันร้ายกาจของสหรัฐฯ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ บทเพลงดังกล่าวได้ถูกหยิบยกไปอ้างอิงโดยนายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน

 

 

นายจ้าวโพสต์เนื้อเพลงตอนหนึ่งทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ว่า " 'เปิดประตูสู่ฟอร์ต ดีทริค เผยให้เห็นความลับที่ถูกเก็บไว้อย่างรัดกุม...' บทเพลงแร็พนี้ช่างพูดตรงกับใจของพวกเราเสียจริง"

 

 

นายจ้าว ซึ่งเป็นที่รู้จักจากสไตล์การทูตที่ดุดัน ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการแพร่ทฤษฎีโควิดมีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ เขาเริ่มโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ที่บ่งชี้ถึงฟอร์ต ดีทริค มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยในเดือน ก.ค.ปี 2020 เขาทวีตว่า "มีอะไรซุกซ่อนอยู่ในห้องแล็บฟอร์ต ดีทริค" และ "เมื่อไหร่สหรัฐฯ จะเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบต้นกำเนิดของเชื้อไวรัส (โควิด-19) ในสหรัฐฯ"

TWITTER

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การเรียกร้องดังกล่าวก็ได้รับการประสานเสียงจากนักการทูตจีนในประเทศต่าง ๆ ขณะที่สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีน ก็ได้ออกอากาศรายงานพิเศษความยาว 1 ชั่วโมง เรื่อง "ประวัติศาสตร์อันดำมืดเบื้องหลังฟอร์ต ดีทริค" (The Dark History behind Fort Detrick) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกรณี "การกักกันรั่วไหล" ในห้องแล็บนี้เมื่อปี 2019 เพื่อตอกย้ำข้อกล่าวหาเรื่องความหละหลวมด้านความปลอดภัยของห้องแล็บนี้ที่เจ้าหน้าที่จีนและสื่อของทางการพยายามกล่าวอ้าง

 

 

อีกทฤษฎีที่ถูกพูดถึงมากได้รับการเผยแพร่โดยโกลบอล ไทมส์ หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ชาตินิยมของจีนที่พยายามเชื่อมโยงต้นกำเนิดของเชื้อโรคโควิดกับผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อไวรัสโคโรนาของสหรัฐฯ คือ ดร.ราล์ฟ บาริค และคณะนักวิจัยที่ฟอร์ต ดีทริค

 

 

สื่อรายนี้อ้างว่า ดร. บาริค ได้สร้างเชื้อไวรัสโคโรนาที่ติดต่อสู่คนได้ โดยอ้างอิงงานวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ร่วมเขียนเกี่ยวกับการที่เชื้อไวรัสโคโรนาถูกส่งผ่านมาจากค้างคาว ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์เนเจอร์ เมดิซีน (Nature Medicine)

 

 

อย่างไรก็ตาม ในบทแถลงของบรรณาธิการ Nature Medicine ระบุว่าได้รับทราบว่างานวิจัยดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในการเผยแพร่ทฤษฎีเท็จ แต่ไม่ได้พาดพิงชัดเจนถึงบทความของโกลบอล ไทมส์

 

 

นอกจากนี้ โกลบอล ไทมส์ยังเปิดการยื่นคำร้องทางออนไลน์เรียกร้องให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงองค์การอนามัยโลกให้เข้าไปตรวจสอบที่ฟอร์ต ดีทริค ซึ่งมีผู้ร่วมลงนามถึง 25 ล้านรายชื่อ

 

 

โฆษณาชวนเชื่อจากสวิตเซอร์แลนด์ถึงฟีจี

บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า รัฐบาลจีนพยายามดึงผู้รับข่าวสารที่เป็นชาวต่างชาติเข้าร่วมในข้อพิพาทเรื่องต้นกำเนิดโควิดด้วย เพื่อทำให้ประเด็นนี้ยิ่งซับซ้อนและสับสนมากยิ่งขึ้น

 

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนปรากฏขึ้นในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยสื่อทางการจีนต่างพากันรายงานคำวิจารณ์สหรัฐฯ ที่โพสต์ทางเฟซบุ๊กโดยผู้ใช้งานที่ชื่อ "วิลสัน เอ็ดเวิร์ดส์" (Wilson Edwards) ที่อ้างตัวว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวสวิส

 

บัญชี Eastman Tyla และ Tyree Schmidt ต่างเผยแพร่โพสต์ของนายวิลสัน เอ็ดเวิร์ดส์

 

 

นายเอ็ดเวิร์ดส์ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ "หมกมุ่นกับการโจมตีจีนเรื่องการหาต้นกำเนิดโควิดเสียจนไม่ยอมเปิดตาดูข้อมูลและการค้นพบต่าง ๆ"

 

 

ทว่าในเวลาต่อมา สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ในจีนระบุว่า ไม่ปรากฏข้อมูลทะเบียนราษฎรของพลเมืองสวิสที่ชื่อ "วิลสัน เอ็ดเวิร์ดส์" อยู่ในระบบของรัฐ พร้อมเรียกร้องให้สื่อจีนถอด "ข่าวปลอมนี้" ออกไป

 

 

ผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่า "นายวิลสัน เอ็ดเวิร์ดส์" ไม่น่าจะมีตัวตนอยู่จริงแต่ถูกสร้างขึ้นสำหรับใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อของจีน โดยบัญชีเฟซบุ๊กของเขาถูกสร้างขึ้นในวันเดียวกับที่เขาโพสต์ข้อความกล่าวหาสหรัฐฯ เรื่องโควิด-19 ขณะที่บัญชีทวิตเตอร์ที่มีชื่อเดียวกัน ก็โพสต์ข้อความแบบเดียวกันในวันนั้น

 

 

เรื่องของนายเอ็ดเวิร์ดส์ปรากฏครั้งแรกในข่าวของ "วอยซ์ ออฟ เซาต์ แปซิฟิก" (Voice of South Pacific) สื่อภาษาจีน-อังกฤษ ที่อยู่ในประเทศฟีจี ในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

 

แม้จะไม่ชัดเจนว่า Voice of South Pacific จะได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลจีนหรือไม่ แต่จากการตรวจสอบพบว่าแอปพลิเคชันของสื่อรายนี้ได้รับการพัฒนาโดยสำนักข่าวจีน (China News Service) ซึ่งก็เป็นสื่อใหญ่ของทางการจีนรายแรกที่นำเสนอคำกล่าวอ้างของนายเอ็ดเวิร์ดส์

 

 

บีบีซียังพบด้วยว่า ก่อนที่โพสต์ทางเฟซบุ๊กของนายเอ็ดเวิร์ดส์จะได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลัก โพสต์ของเขาได้ถูกแชร์ผ่านบัญชีเฟซบุ๊กหลายร้อยรายซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ใช้ที่อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิบัญชีที่ชื่อ Eastman Tyla ในมาเลเซีย และ Tyree Schmidt ในอินโดนีเซีย

 

 

จากการตรวจสอบพบว่า ทั้งบัญชี Eastman Tyla และ Tyree Schmidt ต่างเผยแพร่ข่าวเนื้อหาเดียวกันที่ชื่นชมการรับมือกับโรคระบาดของทางการจีน

 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นผู้ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียเหล่านี้ แต่ทั้งสองมักโพสต์ข้อความอ้างอิงคำกล่าวของโฆษกรัฐบาลจีน หรือจากสื่อทางการจีนรายใหญ่ ๆ

 

 

กราฟิกา (Graphika) บริษัทวิเคราะห์สื่อสังคม ได้ตรวจพบเครือข่ายบัญชีปลอมที่เผยแพร่ข้อมูลสนับสนุนจีนทั้งทางทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ ที่ระดมเผยแพร่ทฤษฎีเรื่องฟอร์ต ดีทริค

 

 

กรณีนี้บอกอะไรถึงการโฆษณาชวนเชื่อของจีน

แม้ขบวนการโน้มน้าวใจผู้คนเรื่องโควิด-19 ของจีนอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์กับนานาชาติ แต่บรรดานักวิเคราะห์บอกว่ามันประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวใจผู้รับข่าวสารในประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มาเรีย เรฟนิโควา จากมหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจีย บอกกับบีบีซีว่า สิ่งสำคัญที่สุดของรัฐบาลจีนคือการที่ประชาชนในประเทศเชื่อคล้อยตามและให้การยอมรับ "...ความกังวลใหญ่ที่สุด [ของรัฐบาลจีน] คือความชอบธรรมภายในประเทศ"

 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรฟนิโควาชี้ว่า แม้กลยุทธ์นี้จะใช้ได้ผลในประเทศ แต่กลับสร้างความร้าวฉานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

 

นอกจากนี้ การที่สื่อของทางการจีนเลือกหยิบเอาแหล่งข่าวจากต่างประเทศมาใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวปลอมของรัฐบาลจีนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐจากภายนอกประเทศนั้น ก็เป็นการส่งสัญญาณถึงอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงในกลยุทธ์การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน

 

 

"มันไม่ใช่แค่การนำเสนอเรื่องราว...แต่เป็นการสร้างเรื่องราวขึ้นมา" ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรฟนิโควากล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง