รีเซต

นายกฯสั่งดูแลราคาพลังงานบรรเทาภาระประชาชน ตรึงค่าไฟ 3.99 บาท ยาวถึงสิ้นปี

นายกฯสั่งดูแลราคาพลังงานบรรเทาภาระประชาชน ตรึงค่าไฟ  3.99 บาท ยาวถึงสิ้นปี
TNN ช่อง16
7 พฤษภาคม 2568 ( 10:02 )
13

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า งวดเดือน กันยายน-ธันวาคม 2568 เป็น 3.99 บาทต่อหน่วย โดยรัฐบาลจะคงอัตราการค่าไฟฟ้า 3.99 บาทต่อหน่วย ให้ได้จนถึงสิ้นปี และถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดที่สำคัญจริง ๆ รัฐบาลจะพยายามยืนค่าไฟในระดับนี้ให้ได้


นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. กล่าวว่า ราคาพลังงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งค่าครองชีพโดยตรงและเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ ในวันนี้จึงได้เน้นย้ำให้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรเทารายจ่ายประชาชน ขอให้ กกพ. ดูแลราคาพลังงานผ่านการปรับค่า Ft งวดเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม 2568 ไม่ให้เกิน 3.98 บาท/หน่วย รวมถึงขอให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บมจ. ปตท. (PTT) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน - ธันวาคม 2568 ไม่เกิน 3.99 บาท/หน่วย เว้นแต่มีการเปลี่ยนแปลงราคาต้นทุนเชื้อเพลงอย่างมีนัยสำคัญ


รวมทั้งต้องหามาตรการการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน และแนวทางที่รองรับพลังงานสะอาด ซึ่งขอให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงประเด็นให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement : Direct PPA) เพื่อพิจารณากำหนดราคาที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้


นอกจากนี้ ขอให้มีการจัดทำแผนพลังงานฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้พิจารณาในการวางแผนการซื้อพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมได้อย่างเหมาะสมและรอบคอบต่อไป


ทั้งนี้นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่ามติ กพช. เห็นชอบค่าไฟเป้าหมายงวดใหม่ กันยายน-ธันวาคม 2568 ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ขณะที่ค่าไฟงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 ใช้อัตรา 3.98 บาทต่อหน่วย โดยใช้เงินจากค่า Claw Back ที่เรียกคืนจาก 3 การไฟฟ้ามาลดค่าไฟฟ้าลง ส่วนระยะต่อไปให้ศึกษาการลดค่าไฟ โดยลดต้นทุนแฝงที่อยู่ในค่าไฟฟ้า


นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2568 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุม


ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้ 


1) รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการปรับค่า Ft จากเดิม 36.72 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 19.72 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีการนำเงินเรียกคืนผลประโยชน์ส่วนเกินจากการไฟฟ้ามาช่วยลดค่าไฟฟ้าผ่านการปรับค่า Ft ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2568 อยู่ที่ 3.98 บาทต่อหน่วย 


2) มอบหมายให้ กกพ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2568 ในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้ดำเนินการทั้งหมดโดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน


พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพช. ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2566 - 2573 และเนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีราคาลดลงทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ กกพ. 3 การไฟฟ้าและ สนพ. เจรจากับผู้ประกอบการเอกชนที่ กกพ. ประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับสิทธิขายไฟฟ้ารายการ 2,180 เมกะวัตต์ โดยอ้างอิงราคาที่ กฟผ. ได้ดำเนินการ เพื่อปรับลดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวลง ตามข้อสังเกตที่นายพีระพันธุ์ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เสนอ ทั้งนี้ ให้คำนึงที่ผลกระทบค่าไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้น และผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ได้ลงทุนไปแล้วด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. เห็นชอบให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ภายใต้รูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573 ในส่วนที่ยังไม่ดำเนินการปริมาณไฟฟ้า 1,488.5 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลือจากการรับซื้อในกลุ่ม 2,180 เมกะวัตต์ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยมอบหมายให้ สนพ. ศึกษาทบทวนอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับต้นทุนปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต 


ทั้งนี้ จะไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจนกว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบจาก กพช. และรับทราบผลศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และความคืบหน้าแนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญของแนวทาง ดังนี้


(1) โรงแยกก๊าซธรรมชาติทำหน้าที่เสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ (Utility) ในการให้บริการปรับปรุงคุณภาพและแยกผลิตภัณฑ์ให้กับผู้รับบริการทุกราย โดยกำหนดผลตอบแทนการลงทุนจากการประกอบกิจการอยู่ในระดับที่เหมาะสม


(2) ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (Sales Gas) ที่นำมาคำนวณใน Pool Gas ควรมีราคาที่ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (Gulf Gas) โดยนำมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ C2+ ที่ได้รับจากการจำหน่ายมาเป็นส่วนลดราคา (Discount) ในสัดส่วนที่เหมาะสม 


(3) กำหนดต้นทุนก๊าซธรรมชาติให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละภาคส่วน ดังนี้ ก๊าซฯ ที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซฯ ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทย (Gulf Gas) ก๊าซฯ ที่นำไปใช้ในการผลิต LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทย ก๊าซฯ สำหรับภาคไฟฟ้า และ NGV ให้ใช้ราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณของก๊าซฯ โดยเรียงลำดับความสำคัญจากแหล่งก๊าซฯ ในประเทศ ก๊าซฯ จากเมียนมา และ LNG ตามลำดับ และก๊าซฯ สำหรับภาคอุตสาหกรรมให้ใช้ต้นทุนจากราคา LNG ซึ่งใกล้เคียงราคาที่ซื้อขายจริงในปัจจุบัน ซึ่งการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่นี้ จะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลง และไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี 


โดยการดำเนินการต่อไป สนพ. จะดำเนินการหารือกับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ สศช. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), กลุ่มอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการค้าก๊าซธรรมชาติ เพื่อสรุปหลักการและจัดทำแนวทางการดำเนินงานในรายละเอียด เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง