รีเซต

ความหวังดีจะมีค่า เมื่อให้ถูกที่ถูกเวลาและผู้รับต้องการ แล้วจะทำอย่างไรให้ความหวังดีไม่ถูกตีกลับ

ความหวังดีจะมีค่า เมื่อให้ถูกที่ถูกเวลาและผู้รับต้องการ แล้วจะทำอย่างไรให้ความหวังดีไม่ถูกตีกลับ
TNN ช่อง16
15 พฤษภาคม 2568 ( 12:56 )
16

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้โพสต์ถึงเรื่องของความหวังดีแล้วทำไมผู้รับถึงโกรธ โดยระบุว่า  "หวังดีแล้วไม่ได้ดี"  "หวังดีแต่เค้าไม่เห็นค่า"  "อุตส่าห์หวังดีทำไมถึงโกรธ" คำพูดน้อยใจ เสียใจ ประมาณนี้เป็นสิ่งที่หมอพบได้บ่อย ถึงบ่อยมากแต่หากเอามาจัดแบ่งกลุ่มความหวังดีที่กลายเป็นส่วนเกินที่พบบ่อยๆ แล้ว หมอพบว่าสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ 

1. หวังดีแต่ผลร้าย

นั่นคือทำด้วยความหวังดีจริงๆ แต่ผลดันไม่ดี

กรณีนี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากการคิดเอาเองว่ามันดี และขาดการสื่อสาร ทำให้สิ่งที่เราคิดเองว่ามันดี แต่มันอาจเกิดผลเสียต่อคนอื่นได้

เช่น สามีต้องเอาเอกสารสำคัญไปทำงานพรุ่งนี้ ด้วยความกลัวลืมเอาไปมาก จึงเอากระเป๋าใส่เอกสารไปแขวนไว้หน้าประตูบ้าน (จะได้ไม่ลืม) หลังจากนั้นภรรยาเดินผ่านมาเห็น จึง “หวังดี” เอาไปเก็บในตู้เสื้อผ้าให้เพื่อความเรียบร้อย ผลคือสามีลืมเอาไป  

ทางแก้ กรณีนี้เกิดจากสองปัจจัยหลักๆ คือ หนึ่งการไม่รู้สถานการณ์ดีพอ ซึ่งต้องแก้ด้วยการคิดให้รอบคอบ กับอีกสิ่งหนึ่งคือการสื่อสารไม่ดี เพราะอย่างในตัวอย่างที่จริงหากถามสามีก่อนว่าเอาไว้ตรงนั้นทำไม ทุกอย่างก็คงไม่เป็นปัญหา ดังนั้นหากไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายต้องการความ"หวังดี"ของเราจริงรึเปล่า ก็ควรถามให้ชัดเจน 

2. หวังดีแต่น่ารำคาญ

กรณีนี้อาจไม่ได้มีผลร้ายอะไรตามมา แต่มักเกิดจากความ “เยอะ” หรือ “มาก” เกินไปของความหวังดี 

เช่น แม่เป็นห่วงลูกสาวมาก เลย “หวังดี” โทรถามทุกเย็นกว่าเลิกเรียนแล้วกลับบ้านรึยัง ซึ่งทำให้ลูกสาวหงุดหงิด

ทางแก้ ต้องลดความเยอะลง และจัดการกับความกังวลของตัวเองให้ได้ (ซึ่งมักเป็นที่มาของความเยอะ)

3. หวังดีแต่เป็นคนที่ไม่ใช่

กรณีนี้ว่าง่ายๆ คือ คนมันไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด นั่นแหละครับ คือ จริงๆ ที่ทำอาจจะดีหมด แต่คนมันไม่ใช่อ่ะ เค้าไม่อยากได้จากเรา ก็แค่นั้น

ทางแก้  ทำใจครับ เลิกทำซะ หรือทำไปแต่ก็ต้องทำใจไว้

สรุป ครับ ความหวังดี อาจจะไม่ดีเสมอไปนะครับ มันต้องถูกเรื่อง ถูกเวลา และถูกคน มันถึงจะดีจริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง