ระวัง 6 โรควิตกกังวล ทำให้ป่วยทางใจกลายเป็นซึมเศร้า
โรควิตกกังวล นับเป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวชที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างไปจากความวิตกกังวลแบบปกติทั่วไป โดยเป็นความรู้สึกที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียด ความกังวลปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า โดยโรควิตกังวล มี 6 โรคที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งสามารถทำร้ายใจคนเรา จนทำให้ป่วยเรื้อรังกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
1.โรควิตกกังวลทั่วไป เกิดความกังวลที่มากกว่าปกติในเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น งาน ครอบครัว สุขภาพ การเรียน หากรู้สึกกังวลเป็นเวลานาน 6 เดือนขึ้นไป อาจทำให้ อ่อนเพลีย กระวนกระจาย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด ขาดความมั่นใจ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
2.โรคแพนิก หรือโรคตื่นตระหนก เกิดความวิตกกังวลโดยไม่มีสาเหตุ ตื่นตระหนก กลัวอาการมักกำเริบเฉียบพลัน จากระบบประสาทอัตโนมัตทำงานผิดปกติ มีภาวะใจสั่น ตัวสั่น เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนคล้ายเป็นลม โดยมากจะเป็นอยู่ 15-20 นาที แล้วค่อยดีขึ้น แต่มักเกิดอาการซ้ำหรือเป็นบ่อย
3.โรคกลัวสังคม เป็นความวิตกกังวลที่จะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกจ้องมอง จะเกิดความตื่นเต้นกังวล ทำให้ประหม่า จะมีอาการ อึดอัด ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เหงื่อออกมาก โดยมีอาการทุกครั้งเมื่ออยู่ในสถานการณ์ เช่น คุยกับคนแปลกหน้า นำเสนองานต่อคนจำนวนมาก เป็นต้น
4.โรคกลัวแบบเฉพาะ เป็นความวิตกกังวลที่มากเกินไปในบางเรื่อง เช่น กลัวเลือด กลัวที่แคบ กลัวรู กลัวสุนัข เป็นต้น แม้ว่าจะรู้สึกกลัวไม่สมเหตุสมผล แต่ก็ไม่สามารถห้ามความกลัวได้ พยายามจะหลีกเลี่ยงไม่เผชิญกับสิ่งที่ตัวเองกลัว ผู้ป่วยมักเกิดปฏิกิริยาทางกายขึ้นมาหากอยู่ในสถานการณ์จำเพาะเจาะจง เช่น ใจสั่น มือ-เท้าเย็น หายใจลำบาก เหงื่อออก อาจวิงเวียนหมดสติดได้ หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นซึมเศร้าได้
5.โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นความวิตกกังวลที่เกิดจากการคิดซ้ำไปซ้ำมา ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบซ้ำๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลใจ ซึ่งอาการย้ำคิดย้ำทำแบบนี้มักพบบ่อยในคนวัยทำงาน เช่น คิดว่าลืมล็อคประตูบ้านต้องเดินกลับไปดูว่าล็อคหรือยัง คิดว่าลืมปิดก็อกน้ำต้องกลับไปเช็คอีกครั้ง เป็นต้น
6.โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ เป็นอาการหลังเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจรุนแรง หรือเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น เผชิญกับภาวะเฉียดตาย ถูกทำร้ายหรือเห็นคนใกล้ตัวเสียชีวิต เป็นต้น จะมีอาการเกิดขึ้นได้หลายอย่าง ตั้งแต่เงียบเฉย ขาดการตอบสนอง ตกใจง่าย หวาดกลัว อาจเป็นร่วมกับโรคซึมเศร้าหรือติดแอลกอฮอล์ หากกระทบชีวิตประจำวัน ควรรีบพบจิตแพทย์
สาเหตุของโรควิตกกังวล เกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1.พันธุกรรม หรือพื้นฐานดั้งเดิม ถ้าพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกก็มีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลเช่นกัน หรือมีพื้นฐานที่ไม่กล้าแสดงอารมณ์ออกมาและการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
2.สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู การเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด การประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล
สำหรับการรักษาโรควิตกกังวล จะขึ้นอยู่กับประเภทของโรค เมื่อมีอาการควรไปพบจิตแพทย์ โดยจิตแพทย์จะพูดคุย สอบถามอาการและประวัติความเจ็บป่วย พร้อมทั้งตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรค เกิดจากร่างกายหรือจิตใจ ก่อนวางแผนและทำการรักษา เช่นการพูดคุยให้คำปรึกษาด้วยการรับฟัง การทำจิตบำบัด การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ผู้ป่วยบางรายอาจรักษาด้วยยา เพื่อลดอาการวิตกกังวล
ข้อมูล: กรมสุขภาพจิต,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กราฟิก : ทีมกราฟิกTNN