รีเซต

ส่องภารกิจสำรวจ "ดวงจันทร์" หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว

ส่องภารกิจสำรวจ "ดวงจันทร์" หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว
TNN ช่อง16
9 กุมภาพันธ์ 2567 ( 17:19 )
77

ในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีนี้ การแข่งขันด้านอวกาศมีความคืบหน้าและเห็นเป็นรูปธรรมมมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการสำรวจ “ดวงจันทร์” ของชาติมหาอำนาจต่างๆ ที่มีการขับเคลื่อนกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ 5 ของโลก ต่อจาก สหรัฐฯ จีน สหภาพโซเวียต (อดีต) และอินเดีย ที่ประสบความสำเร็จนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ ขณะที่ สหรัฐฯ โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา มีโครงการ “อาร์ทีมิส” (Artemis) ที่มีเป้าหมายพามนุษย์เดินทางขึ้นไปบนดวงจันทร์อีกครั้ง หลังจากประสบความสำเร็จภารกิจ อาร์ทีมิส 1 ส่งยานอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว ได้เลื่อนภารกิจ “อาร์ทีมิส 2” ซึ่ง มีขั้นตอนเหมือนภารกิจ “อาร์ทีมิส 1” แต่จะมีนักบินอวกาศไปปฏิบัติภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์แล้วเดินทางกลับมายังโลก ได้เลื่อนไปในเดือนกันยายน 2568 จากกำหนดเดิมที่วางไว้ เดือนพฤศจิกายน 2567 ส่วนภารกิจ “อาร์ทีมิส 3” ภารกิจลงจอดบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2569 และตามด้วยภารกิจ “อาร์ทีมิส 4” ในปี 2571



ทั้งนี้ นาซา กำลังสรุปผลรูปแบบโครงการ “เดอะ ฟิสชัน เซอร์เฟส พาวเวอร์” (The Fission Surface Power) ที่เป็นโครงการที่จะติดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์บนดวงจันทร์ในระยะแรก มีเป้าหมายสร้างแหล่งพลังงาน จากพลังงานสะอาดที่ปลอดภัยบนดวงจันทร์ เพื่อสนับสนุนภารกิจของ “อาร์ทีมิส”  โดยเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว จะมีขนาด 40 กิโลวัตต์  ใช้พลังงานจากแร่ยูเรเนียมสมรรถนะต่ำ  และตัวเตาปฏิกรณ์จะต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 6,000 กิโลกรัม ซึ่ง ปกติแล้ว ตัวเตาปฏิกรณ์ขนาด 40 กิโลวัตต์ จะสามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับบ้านเรือนได้ประมาณ 33 หลัง



สำหรับแผนขั้นต่อไปของนาซา คือ ขยายสัญญาระยะเวลาโครงการระยะที่ 1 เพื่อพัฒนาทิศทางของระยะที่ 2 ให้ดีขึ้น รวมถึงการออกแบบเตาปฏิกรณ์ขั้นสุดท้าย สำหรับใช้งานบนดวงจันทร์ ซึ่ง คาดว่าจะมีการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่สนใจมาเข้าร่วมประมูลได้ในปี 2578 จากนั้น นาซาตั้งเป้าไว้ว่า จะส่งเตาปฏิกรณ์ขึ้นไปยังดวงจันทร์ เพื่อเริ่มต้นใช้งาน สำหรับบริษัทเอกชนที่เข้ามาทำสัญญาและร่วมมือในโครงการระยะแรกกับนาซาและกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ มี 3 แห่ง ได้แก่ ล็อกฮีด มาร์ติน, เวสติงเฮาส์ และไอเอ็กซ์ (IX) บริษัทเอกชนทั้ง 3 แห่ง ได้รับมอบหมาย ให้ยื่นแบบร่างเตาปฏิกรณ์ และระบบการทำงานย่อยต่าง ๆ  รวมถึงประมาณการต้นทุน เพื่อปูทางไปยังเป้าหมาย ในการผลิตพลังงานสำหรับมนุษย์ ที่ขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ให้ได้อย่างน้อย 10 ปี นอกจากนี้ เตาปฏิกรณ์ยังน่าจะมีประโยชน์ กับในพื้นที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีแสงอาทิตย์ส่องถึงตลอดเวลา และคาดว่าเต็มไปด้วยน้ำแข็งและสารชนิดอื่น ๆ



ด้าน สมาคมวิทยาศาสตร์การบินแห่งชาติจีน ประกาศในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับแผนการก่อสร้างฐานปฏิบัติการถาวรบนดวงจันทร์ภายในปี 2593 ในพื้นที่แอ่งสเวอร์ดรุป-เฮนสัน (Sverdrup-Henson) บนขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยจะมีการออกแบบและใช้เทคโนโลยีด้านสถาปนิกที่ทันสมัยสูงสุดในการก่อสร้างฐานปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความสะดวกสบายสำหรับนักอวกาศที่จะขึ้นไปใช้ชีวิต และปฏิบัติภารกิจภายในฐานดังกล่าว ซึ่ง อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อันตรายสุดขั้ว จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์การบินแห่งชาติจีน ประกาศเปิดรับความคิดเห็นจากเยาวชนทั่วโลก เกี่ยวกับแนวทางและเทคโนโลยีจำเป็นด้านต่างๆ สำหรับการสร้างฐานปฏิบัติการถาวรบนดวงจันทร์ โดยจะเปิดรับข้อมูลต่างๆ จากนักเรียน นักศึกษา และเยาวชนจากทั่วโลก ตลอดระยเวลา 5 ปีข้างหน้า ข้อมูลใดที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในเชิงวิทยาศาสตร์จะถูกนำมาปรับใช้งานจริงในการก่อสร้างฐานปฏิบัติการถาวรบนดวงจันทร์ต่อไป



ส่วนอินเดีย หลังจากประสบความสำเร็จ ส่งยานสำรวจ “ปรัชญาน” (Pragyan) น้ำหนัก 26 กิโลกรัม ออกจากยานลงจอด “วิกรม” (Vikram) ได้ปฏิบัติภารกิจสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์ ตามภารกิจ “จันทรายาน-3” (Chandrayaan-3) ของอินเดียแล้ว หลังยานลงจอดบนพื้นที่แถบขั้วใต้ของดวงจันทร์สำเร็จ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมปีที่ผ่านมา อินเดียกำลังต่อยอดความสำเร็จ ก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจด้านอวกาศ  โดย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ระบุว่า ความสำเร็จในการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่ง มีเพียงสหรัฐฯ, รัสเซีย และจีน ที่ทำได้ ถือเป็นชัยชนะสำหรับ “มนุษยชาติทั้งมวล” ขณะที่ ยานจันทรายาน-3 มีมูลค่า 74.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ กว่า 2,612 ล้านบาท เป็นภารกิจที่ใช้เงินทุนต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มาก และยังเป็นข้อพิสูจน์ถึงวิศวกรรมอวกาศที่ประหยัดของอินเดียด้วย



อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ เร่งเดินหน้าภารกิจสำรวจดวงจันทร์ และกำหนดแผนการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์นี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ ซึ่ง ได้รับงบสนบสนุนจากนาซา ออกมาเตือนว่าบนดวงจันทร์ อาจไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัย หลังจากงานวิจัยพบว่า ดวงจันทร์กำลังหดตัวลงทีละนิด หากเปรียบเทียบ คือ คล้ายกับผลองุ่นที่ค่อย ๆ เหี่ยวลง กลายเป็นลูกเกด ซึ่ง จะทำให้ผิวด้านนอกเกิดรอยแยกขึ้น และรอยแยกเหล่านี้ จะก่อให้เกิด “มูนเควก” หรือ แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ ที่อาจกินระยะเวลานานหลายชั่วโมง จากการตรวจสอบ พบว่า เส้นรอบวงของดวงจันทร์ มีขนาดลดลงประมาณ 45 เมตร ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ล้านปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่สำคัญในแง่ของธรณีวิทยา แต่ก็ยังน้อยเกินไปที่จะส่งผลกระทบต่อโลก รวมถึง วัฏจักรของน้ำขึ้นน้ำลง 



ข้อมูลจากยานสำรวจอวกาศ แอลอาร์โอ (LRO) ของนาซา  ที่ปล่อยขึ้นสู่อวกาศเพื่อทำหน้าที่สำรวจรอบดวงจันทร์ เมื่อปี 2552 และเก็บข้อมูลมานานราว 7 ปี แสดงให้เห็นว่า มีแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์เกิดขึ้นจริง แต่หากเทียบความรุนแรงกับบนโลกแล้ว ถือว่าค่อนข้างน้อยกว่า โดยครั้งที่รุนแรงที่สุด น่าจะเท่ากับแผ่นดินไหวขนาด 5.0 ที่เกิดขึ้นบนโลก หากดูตัวเลขอาจคิดได้ว่าไม่ได้รุนแรงมากนัก แต่เนื่องจากบนดวงจันทร์ มีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าบนโลก ดังนั้น หากเกิดแผ่นดินไหวในระดับเดียวกัน จะมีความอันตรายมากกว่า  เนื่องจากไม่มีแรงโน้มถ่วงที่ช่วยยึดเราไว้ กับพื้นผิวดวงจันทร์ นอกจากนี้ เรายังไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นในช่วงไหนด้วย








เรียบเรียงโดย : กาญธิกา มาเรียน อังคณิต

ข้อมูลอ้างอิง : https://www.space.com/nasa-moon-nuclear-reactor-project-first-phase-complete

https://edition.cnn.com/2024/01/31/world/moon-shrinking-moonquakes-south-pole-scn/index.html 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง