รีเซต

โครงการอนุบาลฉลามก คืนสู่อ่าวไทย

โครงการอนุบาลฉลามก คืนสู่อ่าวไทย
TNN World
11 มิถุนายน 2564 ( 10:04 )
244
โครงการอนุบาลฉลามก คืนสู่อ่าวไทย

Editor’s Pick: ‘โครงการอนุบาลฉลามกบ...คืนสู่อ่าวไทย’ นักวิจัยไทย ‘ฟักไข่’ ฉลามกบนับร้อยชีวิตกลับสู่ท้องทะเล หวังฟื้นฟูระบบนิเวศ

 


นักวิจัยด้านประมงไทย ดำดิ่งสู่พื้นสมุทรที่อ่าวไทย ในมือของพวกเขาหิ้วตะกร้านำฉลามกบ หรือรู้จักอีกชื่อว่าฉลามปล้องอ้อย เพื่อปล่อยพวกมันคืนสู่ธรรมชาติ

 

 


หวังลบฉลามกบ ออกจากรายชื่อ “ใกล้ถูกคุกคาม” 


ด้วยขนาดเล็ก เคลื่อนไหวเชื่องช้า และหากินตามท้องสมุทร ทั้งยังมีความโดดเด่นด้วยลายพาดตามลำตัว และหางยาวเป็นพิเศษ ฉลามสายพันธุ์นี้เริ่มอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยง ด้วยจำนวนประชากรที่ลดลงจากภัยของเหล่านักสะสมปลา และผู้ชื่นชอบอาหารหายาก 
นักวิจัยไทยปล่อยฉลามกบอายุน้อยกลับคืนสู่ทะเลในเดือนที่ผ่านมา ด้วยหวังว่าจะลบสายพันธุ์สัตว์น้ำนี้ออกจากรายชื่อ “ใกล้ถูกคุกคาม”​ โดยรายชื่อนี้ถูกจัดอันดับโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN 

 


“เราดำดิ่งไปพื้นมหาสมุทร เพื่อปล่อยลูกฉลามในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อพวกมันจะมีโอกาสรอดเพิ่มขึ้นมากกว่าการปล่อยที่ผิวน้ำ” อุดม เครือเนียม นักวิชาการจากกรมประมงกล่าว 

 


ฉลามกบกว่า 40 ตัวที่มีอายุระหว่าง 2-3 เดือน ถูกปล่อยในแนวปะการังเทียมที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ ที่ความลึก 18 เมตร
อุดมกล่าวว่า โครงการฟักไข่ฉลามกบนี้เริ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ช่วยให้นักวิจัยสามารถเพาะพันธุ์ฉลามประเภทนี้ เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้มากขึ้น

 


สำหรับสาเหตุที่ฉลามกบถูกคุกคามนั้น นายธนัช ศรีคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กล่าวว่า เนื่องจากพวกมันเกิดในเยื่อไข่ ทำให้มีโอกาสน้อยที่จะฟักและอยู่รอดตามธรรมชาติ ทั้งยังถูกจับโดยชาวประมงอย่างไม่ได้ตั้งใจ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมก็ยังไม่รองรับการผสมพันธุ์หรือการเพิ่มจำนวนประชากรของฉลามกบด้วย

 

 


นักล่าประจำอ่าวไทย ไม่ทำอันตรายมนุษย์


ย้อนกลับไปที่ศูนย์วิจัยชายฝั่ง, ปนิดา บัวลังกา เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ บรรจงใช้กรรไกตัดเปลือกไข่เพื่อช่วยปล่อยลูกฉลามข้างในให้เป็นอิสระ 

 


โครงการนี้ช่วยกะเทาะเปลือกไข่ที่ตัวอ่อนฉลามเกิด เพื่อพยาบาลและฟูมฟักลูกฉลามกบกว่า 200 ตัวคืนสู่อ่าวไทย
ฉลามสายพันธุ์นี้เป็นสัตว์พื้นถิ่นประจำอ่าวไทย และพบทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลียตอนเหนือ 
พวกมันเป็นนักล่าขนาดเล็ก เมื่อตัวโตเต็มวัยอาจมีความยาวสูงสุด 1.2 เมตร และไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ ส่วนใหญ่จะออกล่ายามกลางคืนโดยใช้ฟันเล็ก ๆ จับยึดเหยื่อ

 


นักวิจัยหวังว่าการปล่อยฉลามนี้จะช่วยให้พวกมันปรับตัวได้ในเร็ววัน และขยายพันธุ์ต่อไป ในบริเวณปะการังเทียมที่สร้างโดยมนุษย์นี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง