ออสเตรเลียวิจัยกระดานโต้คลื่น ติด “ไฟ” ด้านใต้ ลดฉลามจู่โจม
TNN ช่อง16
27 พฤศจิกายน 2567 ( 16:05 )
23
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Macquarie University ในออสเตรเลียศึกษาพบว่า “การติดไฟให้กระดานโต้คลื่น” อาจช่วยป้องกันฉลามจู่โจมได้…
ความเชื่อหนึ่งที่มีมาอย่างยาวนาน คือความเชื่อที่ว่า ฉลามเข้าโจมตีนักเล่นเซิร์ฟ เพราะเมื่อพวกมันมองจากใต้น้ำ ก็จะเห็นเงาของนักเล่นเซิร์ฟ บนกระดานโต้คลื่น ที่ดูคล้ายกับเงาของแมวน้ำ ซึ่งอาจจะไปกระตุ้นการโจมตีของฉลามได้
จากความเชื่อนี้ จึงทำให้มีความพยายามในการแก้ปัญหามากมาย ที่พยายามทำให้เงาของนักเล่นเซิร์ฟดูแตกต่างจากเดิม เช่น เพิ่มแถบสีขาวดำที่ด้านล่างของกระดานโต้คลื่น แต่ปัญหาคือ เมื่อมองจากใต้น้ำ ภาพที่เห็นจะเป็นเหมือนกับการมองย้อนแสง ทำให้การมองกระดานโต้คลื่นจากด้านใต้ ก็ยังคงเห็นเป็นเงาทึบ ๆ เช่นเดิม
อย่างไรก็ตามทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Macquarie University ได้ศึกษาพบว่ามีสัตว์ทะเลบางชนิด ที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการสร้างคุณสมบัติเฉพาะตัว เพื่อหลบหนีนักล่าจากการจู่โจมใต้ท้องทะเล เมื่อพวกมันต้องว่ายอยู่เหนือนักล่าเหล่านั้น แล้วถูกเห็นเป็นเงา ในกรณีเดียวกับกระดานโต้คลื่น
ทีมนักวิจัยพบว่า “ปลามิดชิปแมนครีบเรียบ” (Plainfin Midshipman fish) ปลาทะเลที่พบในแถบอเมริกาเหนือ หลบเลี่ยงผู้ล่าจากใต้ทะเล ด้วยการใช้ “Photophore”s หรือต่อมเรืองแสงที่อยู่ใต้ลำตัว ทำให้เงาของมัน เมื่อมองจากใต้น้ำแล้วจะ “ดูไม่เป็นรูปทรง”
นักวิจัยจึงได้หยิบเอาไอเดียนี้มาทดลอง โดยใช้เวลาไปกว่า 6 ปีด้วยกัน ซึ่งในช่วงแรก พวกเขาทดลองโดยการลากเหยื่อโฟมรูปร่างเหมือนแมวน้ำ ไปตามผิวน้ำ โดยลากอยู่ห่างจากเรือประมาณ 20 เมตร พบว่า “ฉลามขาว” จะขึ้นมาจู่โจมจากใต้ผิวน้ำเป็นปกติตามทฤษฎี และเมื่อพวกเขาลองทดสอบติดไฟ LED ด้านใต้ของเหยื่อโฟม ก็พบว่าฉลามขาวขึ้นมาโจมตีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม การติดไฟ LED ให้กระดานโต้คลื่นทั้งหมด ค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าจะเอามาใช้งานได้จริง พวกเขาจึงทดลองกับไฟในรูปแบบต่าง ๆ พบว่าไฟ LED ที่มีแถบวางเว้นระยะกัน ตามความกว้างของส่วนใต้ท้องของเหยื่อล่อนั้น พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดการจู่โจมของฉลามขาวได้จริง
ปัจจุบันการทดลองนี้ถูกทำขึ้นแถว มอสเซลเบย์ ประเทศแอฟริกาใต้ โดยอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนแผนการ เนื่องจากทางทีมนักวิจัย ต้องการจะทดสอบกระดานโต้คลื่นที่ติดไฟ LED ไว้ด้านใต้ แต่ทางหน่วยงานของมอสเซลเบย์กังวัลว่า การทดลองดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบให้กับฉลามที่อยู่ในพื้นที เนื่องจาก “อาจทำให้ฉลามติดนิสัย ไล่ล่ากระดานโต้คลื่น” ได้
ณ ตอนนี้ทางทีมนักวิจัยจึงกำลังวางแผน หาวิธีทดสอบตัวกระดานโต้คลื่นต้นแบบ ที่มีแถบไฟ LED ฝังเอาไว้อยู่ โดยพวกเขาต้องการดูว่าไฟ มีประสิทธิภาพแค่ไหนเมื่อกระดานโต้คลื่นไม่เคลื่อนไหว และมีประสิทธิภาพแค่ไหน ในการป้องกันการโจมตีจากฉลามสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฉลามขาว
บทความเกี่ยวกับการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านผลการวิจัยแบบสมบูรณ์ได้จากที่นี่ >> https://www.cell.com/current-biology/abstract/S0960-9822(24)01431-3?_returnURL=https%3A%2F%2Flinkinghub.elsevier.com%2Fretrieve%2Fpii%2FS0960982224014313%3Fshowall%3Dtrue
ที่มาข้อมูล : lighthouse.mq.edu.au/