อ.ธรณ์ ย้อนเล่า จาก 4 ปี ปิดอ่าวมาหยา สู่โครงการวิจัยฯ อนุรักษ์ฉลามระดับประเทศ

หลังจาก ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เปรียบเทียบภาพอ่าวมาหยาในอดีต กับอ่าวมาหยาหลังการฟื้นฟู ซึ่งพบฉลามครีบดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมระบุว่า การฟื้นฟูอ่าวมาหยา ไม่ใช่แค่เพียงปิดเฉย ๆ แต่มีการจัดระเบียบการท่องเที่ยวใหม่ทั้งหมด ทำให้ฉลามกลับมาอาศัย ปัจจุบันอ่าวมาหยามีฉลามครีบดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กลายเป็นแหล่งผลิตฉลามให้ทะเลรอบด้าน มีทีมวิจัยฉลามของอุทยาน และ อาสาสมัครทำงานอย่างต่อเนื่อง ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมายเพื่อใช้อนุรักษ์ฉลามในระดับประเทศและระดับโลก
ล่าสุด (23 เม.ย.68) "อ.ธรณ์" โพสต์ถึงโครงการศึกษาวิจัยฉลามอ่าวมาหยา เริ่มต้นมาร่วม 3 ปีแล้ว จากการปิดฟื้นฟูอ่าวมาหยา ห้ามเรือเข้า ห้ามคนลงเล่นน้ำ ฉลามจึงกลับเข้ามา ... "อ่าวใหญ่น้ำตื้นนิ่งมีแนวปะการัง เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวดของเหล่าฉลามครีบดำ ทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก" ... จำนวนฉลามเพิ่มอย่างเร็ว ตั้งแต่ปิดอ่าวในปี 61 แค่ไม่กี่เดือนก็เริ่มมีเจ้าหน้าที่เจอฉลามหลายตัว จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งนับได้เกือบร้อยตัว (ใช้โดรนถ่ายภาพ) คณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานทางทะเลจึงเสนอแนะให้ทำงานวิจัยฉลามอย่างจริงจัง โดยเน้นการศึกษาพฤติกรรม ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ทำในระดับนี้ เพราะในอดีตคือการศึกษาชนิด เช่น รวบรวมตัวอย่างจากเครื่องมือประมง งานนี้ดำเนินโดยศูนย์วิจัยอุทยานฯ และได้กำลังคนรุ่นใหม่ที่อาสามาช่วย เพราะในเมืองไทยไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมฉลาม .. "เคราะห์ดีที่มีเด็กสาวคนหนึ่ง เธอจบมาด้านนี้จากเมืองนอก ตั้งใจจะกลับมาศึกษาฉลามไทย ทั้งนักวิจัยจากกรมอุทยานฯ และพวกเธอจึงไปที่อ่าวมาหยา"..
อ.ธรณ์ ยังระบุด้วยว่า ฉลามคือจุดสุดยอดพีระมิด ระบบนิเวศแนวปะการังคงอยู่ได้ เพราะในนั้นมีฉลาม รักษาฉลามคือรักษาครบทั้งวงจร .. "ผมจึงดีใจที่อย่างน้อยในไทยก็มีแล้ว 1 โครงการรู้จักฉลาม และยิ่งดีใจเมื่อมีบางคนที่ตั้งใจจะอุทิศช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตให้ฉลาม สำหรับผลการศึกษาฉลามทะเลไทย หนึ่งเดียวของบ้านเรา"
ด้านเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง เผยแพร่ภาพและข้อมูลการสำรวจฉลามคลีบดำ ระบุช่วงระหว่างวันที่ 4-10 เม.ย. 68 เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 (ตรัง) ได้ทำการสำรวจติดตามประชากรและพฤติกรรมของฉลามครีบดำ (Carcharhinus melanopterus) ภายใต้โครงการสำรวจจำนวนและพฤติกรรมตามธรรมชาติของฉลามครีบดำในอ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ (Shark Watch Project)
โดยใช้วิธีถ่ายภาพทางอากาศ (อากาศยานไร้คนขับ) เพื่อนับประชากรฉลาม และติดตั้งกล้องถ่ายใต้น้ำ BRUV (Baited Remote Underwater Video) เพื่อสังเกตพฤติกรรมฉลาม จากการสำรวจเบื้องต้น พบประชากรของฉลามครีบดำมากที่สุดในช่วงเช้าของวันที่ 6 เมษายน 2568 จำนวน 159 ตัว
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จะนำไปวิเคราะห์ในเชิงลึกขั้นต่อไป