งานวิจัยจากออสเตรเลีย ช่วยนักวิทย์แยกเพศฉลามขาว
(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพฉลามขาวในออสเตรเลีย เผยแพร่โดยศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล วันที่ 21 ก.ย. 2021)
แคนเบอร์รา, 6 ธ.ค. (ซินหัว) -- ผลการวิจัยของออสเตรเลีย ซึ่งเผยแพร่วันพุธ (6 ธ.ค.) พบว่าเพศของฉลามขาวถูกกำหนดโดยพันธุกรรมมากกว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม โดยฉลามขาวมีโครโมโซมเพศเอ็กซ์ (X) และโครโมโซมเพศวาย (Y) เหมือนกับมนุษย์
การค้นพบข้างต้นทำให้ทีมนักวิจัยจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ของออสเตรเลียดำเนินการพัฒนาชุดทดสอบพีซีอาร์ (PCR) ซึ่งสามารถใช้ในห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกเพศของฉลามขาวด้วยการตรวจสอบชิ้นเนื้อ
ฟลอเรียน เดฟลู-เดลวา นักวิจัยหลังปริญญาเอกประจำฝ่ายการเก็บสะสมปลาแห่งชาติออสเตรเลีย (ANFC) ขององค์การฯ เผยว่ามีการใช้วิธีการทางสถิติค้นหาข้อมูลดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อตรวจหาโครโมโซมเพศในตัวอย่างฉลามขาวจำนวนมาก
เดฟลู-เดลวา ระบุว่าเพศของฉลามขาวถูกกำหนดโดยพันธุกรรม ไม่ใช่อุณหภูมิเหมือนในจระเข้หรือเต่า โดยฉลามขาวมีโครโมโซมเพศเอ็กซ์และโครโมโซมเพศวายเหมือนกับมนุษย์เพศชายที่มีโครโมโซมเอ็กซ์วายและมนุษย์เพศหญิงที่มีโครโมโซมเอ็กซ์เอ็กซ์
อนึ่ง แม้ฉลามขาวจะเป็นสัตว์นักล่าชั้นยอด แต่มันจัดเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) โดยจำนวนประชากรฉลามขาวลดลงทั่วโลก ทำให้การค้นพบนี้จะช่วยให้เข้าใจฉลามขาวได้ดียิ่งขึ้น
เดฟลู-เดลวา เสริมว่าชุดทดสอบพีซีอาร์ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมานั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจำแนกเพศของฉลามอายุน้อยที่ยังพัฒนาอวัยวะเพศภายนอกได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเกื้อหนุนการเฝ้าติดตามและอนุรักษ์ฉลามขาว