ครั้งแรกของโลก ! ตรวจสภาพบาดแผล แค่ยกมือถือส่อง
นักวิทยาศาสตร์เม็กซิกันและแคนาดา จากบริษัท สวิฟท์ เมดิคอล (Swift Medical) โดยมีสำนักงานอยู่ที่เมืองใบเมเปิลแดง แคนาดา ได้เปิดตัวอุปกรณ์ตรวจสอบการรักษาตัวของบาดแผลด้วยสเปกตรัม หรืออุปกรณ์วินิจฉัยแบบพกพาเป็นครั้งแรกของโลก ที่มีชื่อว่า สวิฟท์ เรย์ 1 (Swift Ray 1) ซึ่งใช้งานด้วยการติดเข้ากับกล้องของสมาร์ตโฟน เพื่อดูการรักษาตัวของบาดแผลว่าสามารถสมานตัวได้ดีหรือมีการติดเชื้อหรือไม่
อุปกรณ์สวิฟท์ เรย์ 1 (Swift Ray 1) ช่วยดูการสมานตัวของบาดแผล
โดยสวิฟท์ เรย์ 1 มาพร้อมกับเซ็นเซอร์อินฟราเรดคลื่นใกล้และคลื่นยาว, แหล่งกำเนิดแสงสีม่วงและไฟแอลอีดี (LED) ทำให้อุปกรณ์สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ช่วงคลื่นแสงที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า, เทอร์โมกราฟฟีอินฟราเรด และภาพเรืองแสงของแบคทีเรีย ส่งผลให้แพทย์สามารถแยกแยะระหว่างการอักเสบและการติดเชื้อที่ฝังลึกได้
อีกหนึ่งจุดเด่นของมันคือ สามารถปรับเข้ากับเม็ดสีผิวต่าง ๆ ได้ ทำให้ไม่ว่าจะสีผิวไหนก็สามารถใช้สวิฟท์ เรย์ 1 ในการช่วยวินิจฉัยบาดแผลได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องยากสำหรับแพทย์ หากต้องพิจารณาบาดแผลด้วยตาเพียงอย่างเดียว
การทดลองทางคลินิกทที่แม่นยำถึง 74%
นอกจากนี้ สวิฟท์ เรย์ 1 ยังผ่านการทดลองทางคลินิกมาแล้ว ซึ่งได้รับการตีพิมพ์งานวิจัยลงบนวารสารทางการแพทย์อย่างฟรอนเทียร์ส อิน เมดิคอล (Frontiers in Medicine) โดยเป็นการทดลองใช้สวิฟท์ เรย์ 1 ในการจำแนกบาดแผล 66 บาดแผล พบว่ามันสามารถช่วยให้แพทย์แบ่งประเภทของบาดแผลได้อย่างแม่นยำถึง 74% ซึ่งมี 3 ประเภท คือ บาดแผลไม่ติดเชื้อ, บาดแผลติดเชื้อ และบาดแผลอักเสบ
อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยบาดแผลนี้จะต้องถูกวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง ก่อนสรุปผลลัพธ์ และตัวอุปกรณ์ยังจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติม โดยทางบริษัท สวิฟท์ เมดิคอลชี้ว่า จะมีการทดลองทางคลินิกกับบาดแผลที่หลากหลายขึ้นในอนาคต
ข้อมูลจาก designtaxi
ภาพจาก Swift Medical