รีเซต

นับถอยหลัง ! ไทยเตรียมส่งดาวเทียม THEOS-2 ไปอวกาศ 7 ต.ค.นี้

นับถอยหลัง ! ไทยเตรียมส่งดาวเทียม THEOS-2 ไปอวกาศ 7 ต.ค.นี้
TNN ช่อง16
27 กันยายน 2566 ( 19:00 )
78

สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) นำโดย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA แถลงความพร้อมในการส่งดาวเทียมธีออส-2 (THEOS-2) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรความละเอียดสูงมากดวงแรกของไทย ขึ้นสู่อวกาศในวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 8:36 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ณ ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) ในทวีปอเมริกาใต้ 


ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth observation satellite หนึ่งในสองดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา ที่ดำเนินการโดย GISTDA ซึ่งมีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวันและข้อมูลจากดาวเทียมจะถูกใช้ในการปรับปรุง (Update) ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียดและถูกต้อง ช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ในการจัดการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การจัดการภัยธรรมชาติ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

 

สำหรับข้อมูล THEOS-2 นี้ GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อจะได้นำไปต่อยอดหรือการบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันเพื่อขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนักพัฒนานวัตกรรมทุกระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน Startup SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ตามนโยบายของ อว. ที่มุ่งเน้นในการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศ


นางสาวศุภมาส กล่าวว่า สำหรับการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับอนาคตของประเทศไทย เพราะเป็นการนำส่งดาวเทียมที่จะนำมาสู่การยกระดับรูปแบบการพัฒนาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งในฐานะผู้แทนของรัฐบาลที่กำกับดูแลหน่วยงานกิจการอวกาศของประเทศและคนไทย จะร่วมเดินทางไปปล่อยดาวเทียม THEOS-2 ในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับความสำเร็จในการนำดาวเทียมความละเอียดสูงมากของไทยดวงนี้ขึ้นสู่อวกาศ ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้กับทีมงาน GISTDA และประเทศไทยในการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ เพราะการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลกครั้งนี้ถือเป็นการส่งดาวเทียมความละเอียดสูงมากครั้งแรกของประเทศไทย


เมื่อดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศแล้วจะใช้เวลาอีกประมาณ 5-7 วัน ในการปรับตัวเองให้เข้าสู่วงโคจรที่แท้จริง และจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ที่จะทดสอบระบบต่าง ๆ ก่อนเปิดให้บริการ ทั้งนี้ ดาวเทียม THEOS-2 จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยกระทรวง อว. จะผลักดันนโยบายเรื่องเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยให้เป็นจริงโดยเร็ว


ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับรัฐบาลในการบริหารจัดการประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อีกด้วย 


สำหรับการนำข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 มาใช้ในการพัฒนาประเทศ สามารถเป็นไปได้ในหลากหลายมิติ อาทิ 


- การจัดทำแผนที่ เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตรต่อ pixel และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1: 1000 


- การจัดการเกษตรและอาหาร สามารถใช้ในการวิเคราะห์ และประเมินพื้นที่เพาะปลูก การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช และการคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวเกษตรกร


- การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ข้อมูลจากดาวเทียมนั้นสามารถใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำและประเภทของแหล่งน้ำทั่วประเทศ ใช้ในการตรวจสอบข้อมูลของแหล่งน้ำ การคำนวณปริมาณน้ำของแหล่งน้ำต้นทุน และด้วยที่ THEOS-2 เป็นดาวเทียมที่มีความละเอียด 50 เซนติเมตร จึงทำให้สามารถตรวจจับแหล่งน้ำที่มีวัชพืชหนาแน่น การบริหารจัดการน้ำทุ่งเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัวเกษตรกร และการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ


- การจัดการภัยธรรมชาติ ข้อมูลดาวเทียมที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการวางแผน ป้องกัน แจ้งเตือน อพยพ และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที หรือเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการฟื้นฟูความเสียหายในเชิงพื้นที่ และการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยที่สูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


- การจัดการเมืองโดยเฉพาะแนวขอบเขตที่ดินและขอบเขตชายแดน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของประเทศ อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง การเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรมเดิมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข การศึกษา การเดินทาง และแหล่งทรัพยากรน้ำ


- การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ข้อมูลจากดาวเทียมทำให้เรามองเห็นสภาพของปัญหาในมุมกว้าง เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบุกรุกป่าและการบริหารจัดการป่าชุมชนบนฐานความสมดุลของการอยู่ร่วมกันระหว่างป่า ทั้งป่าบก ป่าชายเลน และชุมชน ให้สอดคล้องกับการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งใช้ในติดตามการดูดซับและปลดปล่อย Carbon โดยจะนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในกระบวนการ ตรวจวัด และประเมินคาร์บอนที่ได้มาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ และโปร่งใส ตามมาตรฐานสากล


ดร.ปกรณ์ ฯ ยังกล่าวอีกว่า การส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้ถือเป็นการส่งดาวเทียมระดับปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงตามภารกิจของประเทศดวงที่ 2 ของไทยในรอบ 15 ปี หลังจากส่งไทยโชตเมื่อปี 2551 ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เพราะ “เศรษฐกิจ” คือปากท้องของประชาชน จะเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ GISTDA ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมดวงนี้ในการแก้ไขปัญหา ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่และมิติของการพัฒนาพื้นที่เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง