รีเซต

รู้จักกับ Phishing การขโมยข้อมูลทางไซเบอร์

รู้จักกับ Phishing การขโมยข้อมูลทางไซเบอร์
TNN ช่อง16
24 มกราคม 2566 ( 18:13 )
54
รู้จักกับ Phishing การขโมยข้อมูลทางไซเบอร์
ปัจจุบันความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลบนโลกไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของบุคคลนั้น ๆ เช่น การทำงานและการเงิน เมื่อข้อมูลอยู่บนโลกออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีอาจใช้ช่องทางดังกล่าวแสดงหาประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การหลอกให้โอนเงินและการขโมยเงินในบัญชีธนาคาร

ช่องทางการขโมยข้อมูลทางไซเบอร์

1. ปลอมอีเมล วิธีการปลอมอีเมลติดต่อให้ดูเหมือนเป็นอีเมลของธนาคารหรือบริษัทที่ถูกแอบอ้าง หากได้รับอีเมลแปลก ๆ ให้สังเกตชื่อที่อยู่ด้านหลังของอีเมลว่าเป็นชื่อของเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้น ๆ จริงหรือไม่

2. เว็บไซต์ปลอมหลอกให้กรอกข้อมูล การปลอมเว็บไซต์และข้อมูลใหม่ทั้งระบบโดยลอกเลียนแบบมาจากเว็บไซต์ของธนาคารหรือบริษัทที่ถูกแอบอ้าง อย่างไรก็ตามจุดสังเกตเว็บไซต์ปลอมมีหลายจุด เช่น เมนูที่คลิกไม่ได้ การออกแบบที่ไม่สมส่วนหรือกระจัดกระจายไม่มีระเบียบ รวมไปถึง URL ชื่อที่อยู่ของเว็บไซต์ที่ใช้ชื่อแปลก ๆ

3. โทรศัพท์ (Call Center) รูปแบบการหลอกขอข้อมูลและโอนเงินที่ระบาดมากที่สุดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มักใช้วิธีปลอมตัวเป็นธนาคารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โทรมาสอบถามและแจ้งเหตุด่วนให้เหยื่อรีบโอนเงินกลับไป

4. ข้อความสั้น SMS การส่งข้อความไปยังโทรศัพท์ของเหยื่อโดยตรงเพื่อหลอกให้คลิกลิงก์แปลก ๆ และกรอกข้อมูลต่าง ๆ

5. แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียปลอม การสร้างแอปพลิเคชันใหม่ขึ้นมาเพื่อขโมยข้อมูลผู้ใช้งานโดยเฉพาะ มักใช้รูปแบบบริการจัดหาคู่เนื่องจากเหยื่อยินดีเปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง

6. การแชตสนทนา (Chat) การใช้วิธีติดต่อเข้าไปพูดคุยทำความรู้จักโดยแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น จากนั้นหลอกสอบถามข้อมูล

จุดสังเกตที่ต้องระมัดระวังและมักถูกใช้แอบอ้างบ่อยครั้ง เช่น การปลอมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การอ้างเรื่องเร่งด่วนหลอกและรุกเร้าให้รีบโอนเงิน การตีสนิทด้วยการโอ้อวดเงิน บ้าน รถหรือทองคำ หลังจากเหยื่อเริ่มเชื่อใจก็จะชักชวนให้ลงทุนรูปแบบต่าง ๆ

สำหรับข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องระวังเมื่อใช้งานโลกออนไลน์ เช่น รหัสประจำตัวผู้ใช้งาน เลขที่บัตรประชาชน ข้อมูลบัตรเครดิต รหัสความปลอดภัย OTP ผ่านโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลบัญชีธนาคาร และข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่บ้านที่ทำงาน ต้องระมัดระวังในการกรอกข้อมูลหรือส่งให้คนแปลกหน้าที่สอบถาม

รู้หรือไม่ ? : ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าการ Phishing การขโมยข้อมูลทางไซเบอร์ มีโอกาสที่จะหลอกผู้ใช้งานสำเร็จมากถึง 10%




ที่มาของข้อมูล KTC, Thaicert Stanford.edu 
ที่มาของรูปภาพ Gettyimages



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง