รีเซต

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (13 พ.ค. 2565)

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (13 พ.ค. 2565)
TeaC
13 พฤษภาคม 2565 ( 18:51 )
886
เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (13 พ.ค. 2565)

ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" ล่าสุดรัสเซียประกาศเพิ่มการส่งออกข้าวสาลีสู่ตลาดโลก หลังผลิตได้มากเป็นประวัติการณ์ อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (12 พ.ค.2565)

 

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (13 พ.ค.2565)

 

รัสเซียประชุมสุดยอดผู้นำพันธมิตรทางการทหาร ในสัปดาห์หน้า 

ทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงวันนี้ (13 พฤษภาคม) ว่า รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมยอดผู้นำกลุ่มพันธมิตรทางการทหารระหว่างประเทศ องค์กรสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม หรือ CSTO  สมาชิก 6 ประเทศ ประกอบด้วย อาร์เมเนีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน รัสเซีย และทาจิกิสถาน ในสัปดาห์หน้า

 

ผู้นำที่เข้าร่วมนอกจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียแล้ว ยังรวมทั้งประธานาธิบดีอเลกซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุส และประธานาธิบดีคัสซิม-โจมาร์ต โทคาเยฟ ของคาซัคสถานด้วย

 

รายงานข่าว ระบุว่า ผู้นำรัสเซียจัดประชุมดังกล่าวขึ้นมา เพื่อพยายามเน้นย้ำให้เห็นถึงเอกภาพของพันธมิตรทางการทหารนำโดยรัสเซีย ในช่วงที่องค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต กำลังขยายเขตอิทธิพลเข้าใกล้พรมแดนรัสเซียเข้ามาทุกขณะ หลังฟินแลนด์กำลังจะสมัครเข้าร่วมกลุ่มนาโต รอเพียงสภาผู้แทนฯ อนุมัติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟินแลนด์ คาดว่า น่าจะทำได้ภายในกลางสัปดาห์หน้า และสวีเดนมีแนวโน้มจะประกาศสมัครเข้าร่วมกลุ่มนาโตด้วยเช่นกัน  

 

โดยปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ทำให้ฟินแลนด์และสวีเดน ละทิ้งสถานะความเป็นกลางที่ต่างยึดถือมาอย่างยาวนาน

 

ยูเอ็นระบุ ชาวยูเครนอพยพออกนอกประเทศทะลุ 6 ล้านคนแล้ว

หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น รายงานล่าสุดว่า จำนวนชาวยูเครนอพยพหนีออกนอกประเทศเพิ่มขึ้นไปอยู่ 6.03 ล้านคนเมื่อนับถึงวันพุธที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นวิกฤติผู้อพยพลี้ภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในยุโรปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

 

ก่อนหน้านี้ องค์การเพื่อการอพยพระหว่างประเทศ หรือ IOM เพิ่งรายงานล่าสุดว่า จำนวนชาวยูเครนที่อพยพพลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มเป็นกว่า 8 ล้านคน เมื่อรวมกับชาวยูเครนที่อพยพออกนอกประเทศกว่า 6 ล้านนี้แล้ว ทำให้ยอดรวมชาวยูเครนที่อพยพทั้งในประเทศและออกนอกประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมดกว่า 14 ล้านคน หลังรัสเซียปฏิบัติการในยูเครนมานานเกือบ 3 เดือนตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ยูเอ็นให้รายละเอียดว่า ผู้อพยพชาวยูเครนส่วนใหญ่ข้ามพรมแดนเข้าไปในประเทศสหภาพยุโรป หรือ อียู หลายประเทศคือ โปแลนด์, สโลวะเกีย, ฮังการี และโรมาเนีย

 

โปแลนด์เป็นประเทศที่รับผู้อพยพจากยูเครนมากที่สุด 3.3 ล้านคน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้อพยพยูเครนทั้งหมดที่หนีออกนอกประเทศ และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก รัฐบาลโปแลนด์ประเมินว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้อพยพยูเครนจะอยู่ยาวในโปแลนด์ อาจส่งผลกระทบต่อตลาดบ้านในโปแลนด์ รวมไปถึงกระทบระบบโรงเรียนและระบบรักษาพยาบาลด้วย

 

รัสเซียประกาศเพิ่มการส่งออกข้าวสาลีสู่ตลาดโลก หลังผลิตได้มากเป็นประวัติการณ์

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แถลงว่า รัสเซีย หนึ่งในประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะเพิ่มการส่งออกข้าวสาลีในปีนี้ เนื่องจากผลการผลิตมีความเป็นไปได้ว่าจะมากสุดเป็นประวัติการณ์  โดยรัสเซียแข่งกับสหภาพยุโรป หรืออียู และยูเครน ในการส่งออกข้าวสาลีไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกา

 

รัสเซียยังคงส่งออกได้ต่อไป แม้ว่าจะมีปัญหาความยุ่งยากเกี่ยวกับการขนส่งและการชำระค่าสินค้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อรัสเซีย กรณีที่รัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน

 

ปูติน กล่าวต่อที่ประชุมของเจ้าหน้าที่เศรษฐกิจระดับสูงในกรุงมอสโกว่า รัสเซียคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตธัญพืชได้ 130 ล้านตัน ในปี 2022 ซึ่งรวมทั้งข้าวสาลี 87 ล้านตัน หากสิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างที่คาดไว้ มันอาจเป็นสถิติตลอดกาลสำหรับการปลูกข้าวสาลีในประวัติศาสตร์ของรัสเซีย แต่เขาไม่ได้ประเมินตัวเลขการส่งออก

 

ส่วนบริษัทซอฟอีคอน (SovEcon) ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านพืชผลของรัสเซีย แถลงในเดือนเมษายนว่า การส่งออกที่สูงขึ้นจากรัสเซียในฤดูกาลการตลาดใหม่ เดือนกรกฎาคม-มิถุนายน อาจช่วยสนองตอบอุปสงค์ของโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ในกรณีที่การส่งออกของยูเครนยังอยู่ในระดับต่ำ และยูเครนก็ไม่สามารถเข้าถึงท่าเรือในทะเลดำด้วย เนื่องจากท่าเรือของยูเครน ถูกปิดล้อมตั้งแต่รัสเซียส่งทหารบุกเข้าไปในยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์

 

บรรดาผู้ส่งออกของรัสเซีย ส่วนใหญ่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการขนส่ง และการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้า ที่มีสาเหตุมาจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และกำลังส่งออกข้าวสาลีจากฝั่งทะเลดำของรัสเซีย และจากทะเลอาซอฟด้วย

 

รัสเซียผลิตธัญพืชได้มากเป็นประวัติการณ์ 133.5 ล้านตัน ในปี 2020 ซึ่งรวมทั้งข้าวสาลี 85.9 ล้านตัน แต่การผลิตลดลงในปี 2021

 


รัฐบาลรัสเซียเผยแผนการเข้าร่วมกลุ่มนาโตของฟินแลนด์ คือภัยคุกคามต่อรัสเซียอย่างแท้จริง

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย แถลงด้วยว่า ฟินแลนด์ได้ดำเนินมาตรการไม่เป็นมิตรต่อรัสเซีย ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ฟินแลนด์ดำเนินการเพื่อเข้าร่วมองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต มีแต่จะสร้างความรู้สึกเสียใจและเป็นเหตุผลให้รัสเซียใช้มาตรการตอบโต้อย่างสมน้ำสมเนื้อกัน ส่วนจะใช้วิธีการตอบโต้รูปแบบใดบ้าง ขึ้นอยู่กับกระบวนการขยายกลุ่มของนาโต และมีการเคลื่อนย้ายระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการทหารมาใกล้พรมแดนรัสเซียหรือไม่

 

ด้านเยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการกลุ่มนาโต ระบุว่า ถ้าฟินแลนด์ตัดสินใจยื่นเข้าเป็นสมาชิกนาโต จะได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกนาโตจะดำเนินไปแบบราบเรียบ และใช้เวลาไม่นาน เพราะมีคุณสมบัติครบพร้อมอยู่แล้ว โดยฟินแลนด์เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดที่สุดของนาโต รวมทั้งเป็นประเทศประชาธิปไตย และสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ EU การเข้าเป็นสมาชิกนาโตจะทำให้ทั้งสองฝ่ายแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

 

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร ระบุว่า เขาไม่คิดที่จะกลับไปฟื้นความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียอีกต่อไป หลังรัสเซียนำกำลังทหารบุกโจมตียูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่หลีกเลี่ยงที่จะเปรียบเทียบปูตินกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำกองทัพนาซีเยอรมนีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ถูกตั้งคำถามในระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ LBC ของอังกฤษว่า ประธานาธิบดีปูตินจะได้รับการต้อนรับในเวทีโลกหรือไม่ในกรณีที่เขากลับตัวกลับใจ ผู้นำสหราชอาณาจักร ตอบว่า ประธานาธิบปูตินคงยากที่จะกลับตัวกลับใจในตอนนี้ แต่เขาคิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้เขาไม่คิดที่จะกลับไปฟื้นความสัมพันธ์กับผู้นำรัสเซียในตอนนี้ก็ตาม

 

อย่างไรก็ดี จอห์นสันหลีกเลี่ยงที่จะเปรียบเทียบปูตินกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำกองทัพนาซีเยอรมนีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำของสหภาพโซเวียต แต่ย้ำว่า ทุกฝ่ายควรเร่งหาหนทางให้ปูตินหยุดการทำสงครามในครั้งนี้

 

นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ยังระบุว่า ตอนนี้ทั่วโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในอดีตที่รัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียมาเป็นของตัวเองในปี 2014 และไม่มีใครเห็นด้วยกับวิธีเช่นนี้ ทั่วโลกจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสในการเจรจากับประธานาธิบดีปูตินเกี่ยวกับอนาคตข้างหน้า แต่ผู้นำรัสเซียกลับเลือกที่จะบุกโจมตียูเครนหนักกว่าเดิม ถ้ายูเครนยินยอมที่จะทำข้อตกลงใด ๆ กับประธานาธิบดีปูตินในตอนนี้ ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะซ้ำรอยเดิมในประวัติศาสตร์อย่างที่ทุกคนรู้กันดี เขาจึงขอเน้นย้ำชัดเจนอีกครั้งว่า สหราชอาณาจักรจะไม่กลับไปฟื้นความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีปูตินอย่างแน่นอน

 

ข้อมูล : TNN World

ภาพ : Reuters

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง