รีเซต

Relativity Space ส่งจรวด Terran 1 ที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ขึ้นสู่วงโคจรของโลกไม่สำเร็จ

Relativity Space ส่งจรวด Terran 1 ที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ขึ้นสู่วงโคจรของโลกไม่สำเร็จ
TNN ช่อง16
24 มีนาคม 2566 ( 01:42 )
94
23 มีนาคม ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 11.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย บริษัท รีเลทิวิตี สเปซ (Relativity Space) ได้ทำการทดสอบปล่อยจรวดเทอร์แรน 1 (Terran 1) ขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวด Launch Complex 16 บริเวณศูนย์อวกาศคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้ชื่อภารกิจว่า "Good Luck, Have Fun" (GLHF) หรือ "ขอให้โชคดีและมีความสนุก"

หลังจากผ่านช่วงเวลานับถอยหลังจรวดเทอร์แรน 1 (Terran 1) ขั้นตอนที่หนึ่งทำงานได้อย่างไม่มีสิ่งผิดปกติ จรวดสามารถผ่านช่วงของ Max-Q หรือช่วงเวลาที่ระดับค่าสูงสุดของแรงกดดันที่กระทำต่อจรวด ซึ่งเป็นผลมาจากความเร็วและแรงกดดันของอากาศที่ค่าสูงสุด กระบวนการแยกตัวของจรวดขั้นตอนที่หนึ่งออกจากจรวดขั้นตอนที่สองผ่านไปอย่างเรียบร้อย อย่างไรก็ตามได้เกิดขึ้นผิดพลาดหลังจากนั้นจรวดขั้นตอนที่สองไม่สามารถบินขึ้นสู่อวกาศได้

จรวดเทอร์แรน 1 (Terran 1) มีลักษณะเป็นจรวดขนส่งอวกาศแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ขั้นตอน ความพิเศษของจรวดขนส่งอวกาศรุ่นอยู่ตรงที่มันใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ผลิตโครงสร้างและชิ้นส่วนจรวด โดยเป็นเทคโนโลยีการพัฒนาจรวดแบบใหม่ที่คาดว่าจะถูกใช้งานในอนาคต รวมไปถึงเครื่องยนต์จรวดก็ใช้วิธีการขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

โครงสร้างของจรวดเทอร์แรน 1 (Terran 1) มีความสูง 35.2 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.3 เมตร จรวดขั้นตอนแรกติดตั้งเครื่องยนต์จรวด Aeon-1 จำนวน 9 เครื่องยนต์ ใช้เชื้อเพลิงมีเทนเหลวและออกซิเจนเหลว จรวดขั้นตอนที่สองติดตั้งเครื่องยนต์จรวด Aeon-R จำนวน 1 เครื่องยนต์ ใช้เชื้อเพลิงชนิดเดียวกัน จรวดรุ่นนี้สามารถบรรทุกดาวเทียมหรือยานอวกาศน้ำหนัก 1.5 ตัน ขึ้นสู่วงโคจร (LEO)

แม้ว่าภารกิจจะไม่ประสบความสำเร็จ 100% แต่นับเป็นก้าวสำคัญของ บริษัท รีเลทิวิตี สเปซ (Relativity Space) ที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีจรวดที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ขึ้นสู่อวกาศและเป็นบทพิสูจน์ว่าจรวดที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีความเป็นไปได้ที่จะถูกใช้งานขนส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรของโลก

สำหรับแผนการในอนาคตบริษัทเตรียมพัฒนาจรวดรุ่นต่อไปโดยใช้ชื่อว่าเทอร์แรน อาร์ (Terran R) ซึ่งมีลักษณะเป็นจรวดเชื้อเพลิงเหลวแบ่งการทำงานออกเป็นสองขั้นตอนเช่นเดียวกัน แต่มีการเพิ่มขนาดความสูงเป็น 66 เมตร และขีดความสามารถในการบรรทุกดาวเทียมหรือยานอวกาศน้ำหนัก 20 ตัน ขึ้นสู่วงโคจร (LEO)

จรวดเชื้อเพลิงเหลวที่ใช้เชื้อเพลิงมีเทนเหลวและออกซิเจนเหลวมีกระบวนการพัฒนาที่ยากกว่าจรวดเชื้อเพลิงแข็งแต่ในระยะยาวมีแนวโน้มที่จะถูกใช้งานมากกว่า เช่น กรณีการสำรวจดาวอังคารซึ่งวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่ามีองค์ประกอบของก๊าซมีเทนและออกซิเจนอยู่อาจสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับจรวดหรือยานอวกาศได้ แนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ ตัวอย่างเช่น จรวดซูเปอร์เฮฟวี (Superheavy) และยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ก็มีแนวคิดในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน




ที่มาของข้อมูล Space.com

ที่มาของรูปภาพ Relativity Space

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง