เพชรบูรณ์พบ 'ฟอสซิลใบไม้กลายเป็นหิน' ยุคเพอร์เมียนอายุ 240-280 ล้านปี
เพชรบูรณ์พบฟอสซิลใบไม้กลายเป็นหินยุคเพอร์เมียนอายุ 240-280 ล้านปี สุดทึ่ง! ทั้งสวยงามและมีสภาพสมบูรณ์ เชื่อเป็นกุญแจอีกดอกช่วยไขปริศนาโลกหลายร้อยล้านปี
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านโภชน์ หมู่ 11 ตำบลบ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับมอบฟอสซิลใบไม้ดึกดำบรรพ์และฟอสซิลหนอนปลอกน้ำ จากชาวบ้านรายหนึ่งระหว่างเดินทางขึ้นไปชมน้ำตกซับชมภู แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของตำบลบ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ จึงได้นำมามอบให้กับนายวิกิจ เพ็ญภาค อายุ 61 ปี ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านโภชน์ เพื่อนำมาเก็บรักษาและเตรียมประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบ
ทั้งนี้ สำหรับฟอสซิลใบไม้ดึกดำบรรพ์ที่กลายเป็นหินที่มีการค้นพบดังกล่าว ยังคงมีสภาพสมบูรณ์จนน่าทึ่งแก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะปรากฏลายก้านใบค่อนข้างชัดเจนมากและมีจำนวน 4 ใบ ถูกทับถมอยู่กับซากฟอสซิลหนอนปลอกน้ำ มีลักษณะเป็นรูพรุน ซึ่งจากการตรวจสอบใน “แผนที่แสดงแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา ทะเลดึกดำบรรพ์บ้านโภชน์อุทยานธรณีเพชรบูรณ์” (Phetchabun Geopark) พบว่าตรงจุดบริเวณที่พบฟอสซิลดังกล่าวบริเวณน้ำตกซับชมภู อยู่ในพื้นที่สำรวจซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลในยุคเพอร์เมียน อายุ 240-280 ปี ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมถึง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 6 บ้านซับเดื่อ, หมู่ 7 บ้านเนินสวรรค์ และหมู่ 8 บ้านซับชมภู ตำบลบ้านโภชน์ รวมกว่า 20,000 ไร่ อันบ่งชี้ได้ว่าที่บริเวณแห่งนี้เคยเป็นทะเลน้ำตื้นมาก่อน ประมาณช่วงกลางยุคเพอร์เมียน ราว 240-280 ล้านปีมาแล้ว
นายวิกิจกล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา นายสัญชัย เสือกะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ได้นำก้อนหินจากบริเวณเหนือน้ำตกซับชมภูมาให้ดู 3 ก้อน โดยบอกว่าเห็นมันเป็นริ้วและมีรูพรุนไปทั้งก้อน แถมยังมีใบไม้ติดมาด้วย ซึ่งในตอนแรกตนก็มองผ่านๆ แบบไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไรนัก เพราะธรรมชาติของหินปูนน้ำจืดมันก็เป็นริ้วเป็นรูอยู่แล้ว แถมยังหยิบมาแบบไม่ได้ทำความสะอาด มันก็ย่อมมีใบไม้ติดมาด้วยเป็นธรรมดา
“แต่ระหว่างนั่งคุยกันถึงเรื่องฟอสซิลอย่างอื่นอยู่นั้น ตนจึงได้หยิบหินปูนน้ำจืดก้อนดังกล่าว ขึ้นมาดูอย่างละเอียดอีกครั้ง ก็ต้องรู้สึกแปลกใจและตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง เมื่อรูพรุนที่ดูในตอนแรกนั้นพบว่าน่าจะเป็นลักษณะของหนอนปลอกน้ำ และเจ้าเศษใบไม้ในตอนแรกก็พบว่ากลายเป็นหิน และเป็นฟอสซิลไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งใหม่และเป็นครั้งแรกที่พบฟอสซิลใบไม้” นายวิกิจกล่าว
อย่างไรก็ตาม ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านโภชน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นจะได้นำข้อมูลและภาพถ่ายส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ศึกษาและร่วมตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ในการพบฟอสซิลใบไม้ที่สมบูรณ์แบบนี้ นอกจากจะเป็นกุญแจอีกดอกที่ช่วยในการค้นคว้าศึกษาไขปริศนาของการเปลี่ยนของโลกยุคดึกดำบรรพ์แล้ว ยังช่วยเติมเต็มความเป็นอุทยานธรณีเพชรบูรณ์หรือเพชรบูรณ์จีโอปาร์คอีกด้วย