รีเซต

ฟอสซิลไดโนเสาร์สมบูรณ์ในจีน อาจไม่ได้ถูกเก็บรักษาด้วยภูเขาไฟตามแนวคิดเดิม แต่เป็นเพราะฝน

ฟอสซิลไดโนเสาร์สมบูรณ์ในจีน อาจไม่ได้ถูกเก็บรักษาด้วยภูเขาไฟตามแนวคิดเดิม แต่เป็นเพราะฝน
TNN ช่อง16
12 พฤศจิกายน 2567 ( 14:08 )
19

เมื่อประมาณ 120 - 130 ล้านปีก่อน บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีนเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยป่าไม้เขตอบอุ่น ทะเลสาบ และสัตว์ป่านานาพันธุ์ ในปัจจุบันพื้นที่นี้คือเมืองจินโจว มลฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน มันได้กลายเป็นพื้นที่ที่พบฟอสซิลไดโนเสาร์ที่อุดมสมบูรณ์ ในชั้นหินที่เรียกว่า ยี่เซียน ฟอร์เมชัน (Yixian Formation)


ที่มา : Jun Liu et al.


ความพิเศษของฟอสซิลในยี่เซียนฟอร์เมชัน

ปกติแล้วฟอสซิล มักจะพบในลักษณะโครงกระดูก แต่ฟอสซิลในยี่เซียนฟอร์เมชัน สามารถเก็บรักษาส่วนประกอบอื่น ๆ ไว้ได้ด้วย เช่น ขน เกล็ด อวัยวะภายใน และแม้แต่อาหารในกระเพาะอาหารที่ยังย่อยไม่หมด ฟอสซิลเหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้หลายร้อยล้านปี และไม่ถูกรบกวนจนกระทั่งทศวรรษที่ 1980 เมื่อชาวบ้านในท้องถิ่นขุดพบซากฟอสซิลที่อยู่ในสภาพดี จนทำให้เกิดปรากฏการณ์คล้าย ๆ กับการ "ตื่นทอง" คือ ฟอสซิลมีราคาสูง นำไปสู่การขุดค้นครั้งใหญ่


ความเชื่อก่อนหน้าของนักวิทยาศาสตร์

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าฟอสซิลยี่เซียนฟอร์เมชันถูกเก็บรักษาไว้จากการที่ภูเขาไฟในบริเวณนั้นเกิดการปะทุอย่างรวดเร็วจนเถ้าภูเขาไฟฝังและผนึกฟอสซิลไว้ ซึ่งเป็นกระบวนการเกิดที่คล้ายกับที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 79 ที่เมืองปอมเปอี เมื่อภูเขาไฟวิสุเวียสปะทุและฝังร่างของชาวเมืองไว้อย่างรวดเร็ว


การศึกษาใหม่ ท้าทายแนวคิดเดิม

แต่การศึกษาใหม่จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาและบรรพมานุษยวิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Institute of Paleontology and Paleoanthropology, Chinese Academy of Sciences) ได้ท้าทายความเชื่อดังกล่าว โดยนักวิจัยได้ใช้เทคนิคขั้นสูง เพื่อระบุอายุของฟอสซิล พบว่าซากฟอสซิลเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อ 125.8 ล้านปีก่อน และช่วงที่เกิดการทับถมกินเวลาเพียงประมาณ 93,000 ปี ซึ่งกรอบเวลานี้สนับสนุนให้เกิดแนวคิดที่ว่า ซากฟอสซิลไม่ได้ถูกเก็บรักษาเพราะภูเขาไฟ แต่เกิดจากการสะสมตะกอนอย่างรวดเร็ว รวมถึงการที่โพรงของสัตว์ถล่มทับ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อย ลดการย่อยสลายของซาก


พอล โอลเซ่น (Paul Olsen) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้เขียนร่วมกล่าวว่า ฟอสซิลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการเสียชีวิตในระบบนิเวศปกติ โดยพบว่าสภาพแวดล้อมรอบข้างมีการตกตะกอนด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ รวมถึงซากฟอสซิลยังไม่ได้แสดงลักษณะบิดเบี้ยว ซึ่งเป็นลักษณะที่น่าจะเกิดหากเสียชีวิตด้วยความร้อนที่รุนแรงของลาวา


ในทางกลับกัน ฟอสซิลในยี่เซียนฟอร์เมชันจำนวนมาก ถูกเก็บรักษาไว้ โดยขาของสัตว์ถูกซ่อนไว้ใกล้ตัวแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาที่เสียชีวิต สัตว์เหล่านี้อาจไม่ได้ถูกรบกวนหรืออาจกำลังหลับอยู่ 


จากนั้นเมื่อสัตว์ตายแล้ว ก็เกิดการสะสมตะกอนอย่างรวดเร็ว โดยทีมวิจัยตั้งสมมติฐานว่าสาเหตุที่เร่งการสะสมของชั้นตะกอนคือฝน ซึ่งจะพัดโคลน ตะกอน ลงไปในทะเลสาบและตกตะกอนอยู่ที่ก้นทะเลสาบ ปกคลุมซากสัตว์ที่ตายแล้วและสร้างสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อย กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่เก็บรักษาโครงกระดูกไว้เท่านั้น แต่ในบางกรณีก็สามารถเก็บรักษาเนื้อเยื่ออ่อนไว้ได้ด้วย


นับว่าเป็นอีกหนึ่งการค้นพบ ที่อาจทำให้ภาพของบรรพกาลบนดาวโลกของเราชัดเจนขึ้น และอาจนำไปสู่การค้นพบซากฟอสซิลในพื้นที่อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันในอนาคต


การศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร The Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2024


ที่มา : Jun Liu et al.


ที่มาข้อมูล PNAS, InterestingEngineering

ที่มารูปภาพ Jun Liu et al. (Eurekalert)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง