รีเซต

โครงกระดูกในถ้ำลาว เผยหลักฐานมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ยุคแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงกระดูกในถ้ำลาว เผยหลักฐานมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ยุคแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
TNN ช่อง16
15 ตุลาคม 2567 ( 12:38 )
14

ในปี 2009 ได้มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ในถ้ำผาลิง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว คาดว่ามีอายุประมาณ 86,000 - 30,000 ปีก่อน ถือเป็นมนุษย์ยุคแรกเริ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหลังจากนั้นนักวิจัยก็ได้ศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจบรรพบุรุษของมนุษย์ในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด


การขุดค้นในถ้ำผาลิง ที่มา : Flinders University


ล่าสุด งานวิจัยนำโดยทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ประเทศออสเตรเลีย และเพื่อนร่วมทีมจากหลายประเทศ ได้ค้นพบข้อมูลเชิงลึกใหม่ ที่ได้จากการวิเคราะห์ชั้นดินจุลภาค (Microscopic Layer) ทำให้ทราบเงื่อนไขด้านสภาพภูมิอากาศโบราณ ที่ส่งผลต่อชีวิตของมนุษย์โบราณ รวมไปถึงการสะสมตัวของฟอสซิลโครงกระดูกนับหมื่นปี 


โดยทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า ไมโครสตราติกราฟี (Microstratigraphy) ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในทางโบราณคดีและธรณีวิทยาในการศึกษาชั้นหินหรือชั้นตะกอนขนาดเล็ก เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมจำลองของถ้ำเมื่อ 52,000 - 10,000 ปีก่อนขึ้นมา จากนั้นวิเคราะห์และศึกษาร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์


ไมโครสตราติกราฟีช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาดินได้ในรายละเอียดขนาดเล็ก ทำให้สามารถสังเกตโครงสร้างและลักษณะเฉพาะเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในอดีต รวมไปถึงกิจกรรมของมนุษย์และสัตว์ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้อาจถูกมองข้ามไประหว่างกระบวนการขุดค้น เผยให้เห็นว่าสภาพภายในถ้ำนั้นผันผวนอย่างมาก โดยเปลี่ยนจากภูมิอากาศอบอุ่นที่มีพื้นดินเปียกชื้นบ่อยครั้ง กลายเป็นแห้งแล้ง


รองศาสตราจารย์ ไมค์ มอร์ลีย์ (Mike Morley) จากคณะมนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ผู้เขียนร่วม กล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันมานานว่ามนุษย์โฮโมเซเปียนส์ยุคแรกถูกฝังลึกในถ้ำได้อย่างไร ซึ่งงานวิจัยนี้ก็เปิดเผยว่าฟอสซิลที่พบนี้น่าจะไม่ได้เกิดจากการตั้งใจนำมาฝังไว้ในถ้ำ แต่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงฝนตกหนัก น้ำจากเนินเขาจึงพัดพาเข้าไปในถ้ำในรูปแบบของตะกอนและเศษซาก 


Vito Hernandez ผู้นำการวิจัย ที่มา : Flinders University

Mike Morley ผู้นำการวิจัย ที่มา : Flinders University



ทีมวิจัยยังได้วิเคราะห์ร่องรอยขนาดเล็กมากระดับไมโคร (Micro-Traces) ของถ่านและขี้เถ้าที่พบในตะกอนในถ้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นสภาพภูมิอากาศบรรพกาลว่าเกิดไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง หรือมนุษย์ที่เข้ามาในถ้ำในยุคสมัยนั้นมีการใช้ไฟเพื่อให้แสงสว่าง


ฟาบริซ ดีมีเตอร์ (Fabrice Demeter) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ผู้เขียนร่วมของงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า งานวิจัยนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพลวัตของบรรพบุรุษของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการกระจัดกระจายไปตามผืนป่าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และแสดงให้เห็นว่าในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวนในภูมิภาคนี้ มนุษย์มีการปรับตัวอย่างไรต่อสภาพภูมิอากาศ


นับว่าเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่เผยให้เห็นถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคแรกและสภาพแวดล้อมโบราณที่ส่งผลต่อมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษโดยตรงของเรา งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Quaternary Science Reviews ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2024


การขุดค้นในถ้ำผาลิง ที่มา : Flinders University


ที่มาข้อมูล ScitechDaily, ScienceDaily, ScienceDirect, Flinders University

ที่มารูปภาพ ScienceDirect, Flinders University

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง