“โรงแรมอวกาศ” แห่งแรก สร้างแรงโน้มถ่วงเทียมได้ ตั้งเป้าให้บริการปี 2027

บริษัทสตาร์ทอัพด้านการบินและอวกาศ Orbital Assembly Corporation (OAC) ประกาศแผนการอันทะเยอทะยานที่จะเปิดตัว "Voyager Station" โรงแรมอวกาศสุดหรูแห่งแรกของโลก ภายในปี 2027 นับเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงการเข้าสู่ยุคใหม่ของการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถเดินทางนอกชั้นบรรยากาศโลกได้มากขึ้น
Voyager Station
Voyager Station ได้รับการออกแบบให้เป็นรีสอร์ทอวกาศระดับห้าดาวที่สามารถรองรับแขกได้ 280 คน และลูกเรือ 112 คน ภายในสถานีจะเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกอันหรูหรา อาทิ ร้านอาหาร บาร์ ห้องจัดแสดงคอนเสิร์ต ยิม และโรงภาพยนตร์
ทิม อลาทอร์เล่ (Tim Alatorre) รองประธานและสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบโรงแรม ให้ความเห็นว่าในอนาคต การเดินทางสู่อวกาศจะกลายเป็นเรื่องปกติในอนาคตอันใกล้ และการเป็นนักบินอวกาศ อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป เพราะทุกคนได้ทำแล้ว
เทคโนโลยีแรงโน้มถ่วงเทียม
Voyager ได้รับแรงบันดาลใจจากทฤษฎีการตั้งถิ่นฐานในอวกาศที่พัฒนามายาวนานนับศตวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดของ "วงล้อหมุน" ที่เสนอขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1900 เพื่อสร้างแรงโน้มถ่วงเทียม ด้วยหลักการของแรงหนีศูนย์กลาง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่สนับสนุนให้ Voyager Station จะสามารถสร้างแรงโน้มถ่วงเทียมได้ และผู้เยี่ยมชมสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
โดยแรงโน้มถ่วงเริ่มต้นจะใกล้เคียงกับดวงจันทร์ หรือประมาณหนึ่งในหกของแรงโน้มถ่วงโลก โดย OAC มีเป้าหมายที่จะเพิ่มระดับแรงโน้มถ่วงให้เทียบเท่าดาวอังคาร หรือหนึ่งในสามของแรงโน้มถ่วงโลก และในที่สุดจะจำลองน้ำหนักของโลก แม้จะยังมีการวิจัยจำกัดเกี่ยวกับการปรับตัวของมนุษย์ต่อแรงโน้มถ่วงเทียม แต่ OAC ต้องการทำความเข้าใจสรีรวิทยาของผู้โดยสารให้ดีขึ้นก่อนที่จะเพิ่มแรง G-force หรือแรงโน้มถ่วง
ประสบการณ์การเดินทางสู่ห้วงอวกาศ
หลังจากการทะยานขึ้นจากโลก ผู้โดยสารจะเดินทางมายังศูนย์กลางการเชื่อมต่อที่ไร้แรงโน้มถ่วง จากนั้น ลิฟต์จะพาพวกเขาออกไปยัง "โมดูลที่พัก" ที่จัดเรียงเป็นวงกลมรอบสถานี แรงหนีศูนย์กลางจะแข็งแกร่งพอที่จะทำให้แขกและสภาพแวดล้อมตั้งอยู่ได้ภายในโมดูลทั้ง 24 โมดูล ซึ่งมีพื้นที่รวม 125,000 ตารางฟุต
ภายในโมดูลเหล่านี้ ผู้เข้าพักจะได้สัมผัสกับสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดของรีสอร์ทบนอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการยกน้ำหนักในสภาวะไร้น้ำหนัก การฝึกซ้อมการดั๊งก์ลูกบาสเกตบอล การแสดงดนตรีสด หรือการลิ้มลองอาหารอวกาศแบบดั้งเดิมควบคู่ไปกับอาหารนานาชาติ และแน่นอน วิวทิวทัศน์ของโลกสีฟ้า เขียว และขาว ที่โค้งรับกับความมืดมิดของอวกาศ ซึ่งจะมอบประสบการณ์ที่น่าจดจำ
ความสามารถในการเข้าถึงและการลงทุนในอนาคต
OAC ตั้งเป้าที่จะทำให้การเดินทางสู่อวกาศเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยมีเป้าหมายให้การเข้าพักใน Voyager มีราคาใกล้เคียงกับตั๋วเรือสำราญในอนาคต แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังอวกาศจะยังคงสูงลิ่วในปัจจุบัน แต่ด้วยการพัฒนาระบบการปล่อยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น จรวด Starship และ Super Heavy booster ของ SpaceX คาดว่าต้นทุนการขนส่งจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้โรงแรมอวกาศแห่งนี้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นภายในหนึ่งทศวรรษ
แม้ว่าโครงการนี้จะมีความทะเยอทะยานสูง แต่ปัจจุบัน OAC ก็ไม่ได้เป็นเพียงผู้เล่นเดียวที่นำเสนอแนวคิดธุรกิจบนอวกาศลักษณะนี้เนื่องจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) กำลังจะหมดอายุการใช้งาน ทำให้บริษัทหลายแห่ง มองหาโอกาสที่จะสร้างสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์เป็นของตนเอง อาทิ Axiom ที่มีสัญญากับ NASA เพื่อสร้าง "โมดูลปลายทาง" ที่จะรวมเข้ากับ ISS และในที่สุดจะกลายเป็นสถานีอิสระ รวมถึง Orbital Reef ซึ่งเป็นสถานีอวกาศแบบผสมผสานจาก Sierra Space และ Blue Origin อย่างไรก็ตาม Voyager เป็นเพียงแห่งเดียวที่เน้นการท่องเที่ยวเป็นหลัก
โดยปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างพัฒนาแบบจำลองของแนวคิด "Gravity Ring" ซึ่งเป็นแบบจำลองย่อส่วนของวงล้อ และ "สถานี Pioneer" ที่มีโมดูลที่พัก มีกำหนดจะพร้อมใช้งานแบบจำลองจริงภายในปี 2025 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถทดสอบเทคโนโลยีของตน ก่อนการประกอบขั้นสุดท้ายของ Voyager