รีเซต

รู้จัก "โรคลมหลับ" รักษาไม่หาย ใช้ยาบรรเทา เช็กสัญญาณ ง่วง-หลับง่าย แบบไหนเข้าข่ายโรค

รู้จัก "โรคลมหลับ" รักษาไม่หาย ใช้ยาบรรเทา เช็กสัญญาณ ง่วง-หลับง่าย แบบไหนเข้าข่ายโรค
TNN ช่อง16
20 สิงหาคม 2567 ( 18:21 )
31
นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ระบุในเพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ว่า ผู้ป่วยหญิงอายุ 22 ปี เริ่มง่วงนอนมากผิดปกติตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อดนอน นอนวันละ 8 ชั่วโมง กลางวันง่วงมาก ต้องเผลอหลับทุกวัน หลังงีบหลับตื่นขึ้นมาสดชื่น บางครั้งมีหูแว่วและเห็นภาพหลอนขณะกำลังจะตื่น เวลามีอารมณ์เช่นหัวเราะ นาน ๆ ครั้งมีกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ไม่นอนกรน ไม่มียาประจำ ไม่ขับรถ น้ำหนัก 48 กิโลกรัม สูง 159 เซนติเมตร ความดัน 100/70 ตรวจร่างกายทุกอย่างปกติ เข้ารับการตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการการนอนหลับ ใช้เวลา 4 นาทีหลับได้ และคลื่นสมองเปลี่ยนเป็นหลับฝัน REM sleep ในเวลาเพียง 1 นาที (หลังจากเริ่มหลับคนปกติคลื่นสมองจะเปลี่ยนเป็นหลับฝันต้องใช้เวลาประมาณ 90 นาที) ไม่พบภาวะหยุดหายใจขณะหลับ



หลังจากหลับเต็มที่แลัว เช้าวันรุ่งขึ้น ทำการตรวจการนอนหลับตอนกลางวันเป็นช่วง ๆ ในห้องปฏิบัติการ Multiple Sleep Latency Test (MSLT) โดยให้ผู้ป่วยพยายามงีบหลับทุก 2 ชั่วโมง 5 รอบตั้งแต่เช้าถึงบ่าย ถ้าหลับจะอนุญาตให้งีบหลับได้เพียง 15 นาทีแล้วถูกปลุกให้ตื่น ขณะงีบหลับมีการตรวจคลื่นสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ และการกลอกตา ผู้ป่วยหลับง่ายได้ทั้ง 5 รอบใช้เวลาไม่ถึง 2 นาทีจากดับไฟจนกระทั่งเริ่มหลับ และคลื่นสมองเปลี่ยนเป็นหลับฝัน REM sleep ทั้ง 5 รอบในเวลา 1-8 นาที ซึ่งถือว่าผิดปกติเข้าได้กับโรคลมหลับ จึงวินิจฉัย : โรคลมหลับ (Narcolepsy)


โรคลมหลับ มีข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เกิดจากสารสื่อประสาทไฮโปคริติน (Hypocretin) ในสมองลดน้อยลง ทำให้ความรู้สึกตัวลดน้อยลง ทำให้เกิดอาการหลับแบบฉับพลัน ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า สันนิษฐานสาเหตุว่าเกิดจาก "พันธุกรรม" ส่วนสาเหตุอื่นๆ อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ หรือว่าโรคหลอดเลือดในสมอง



อาการของโรคลมหลับมีอะไรบ้าง?


- อ่อนแรงฉับพลัน อยู่ๆ ก็เผลอหลับไป

- กริยาท่าทางหรืออารมณ์เป็นตัวกระตุ้น เช่น หัวเราะ โกรธ แล้วก็เผลอหลับไป

- เห็นภาพหลอน ครึ่งหลับครึ่งตื่น

- รู้สึกตัวแต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้

- ตอนกลางคืนนอนหลับปกติ แต่กลางวันจะมีอาการของโรคลมหลับ



แม้อาการของโรคลมหลับจะเกิดอย่างเฉียบพลัน แต่พอจะสังเกตอาการได้ดังนี้


- มีอาการง่วง เหงา หาว นอนตลอดทั้งวัน

- มีอาการหลับอย่างเฉียบพลัน จึงไม่ควรขับขี่ หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง

- มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

- มีอาการนอนหลับแบบตากระตุก



การรักษา ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ก่อน เนื่องจากโรคนี้พบได้น้อย ยังไม่มียารักษา และต้องแยกสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการง่วงได้ เช่น โรคซึมเศร้า หรือ การใช้ยาบางตัว เป็นต้น


อย่างไรก็ตามมีคำแนะนำการดูแลรักษาเบื้องต้น มีดังนี้


- เพิ่มการงีบหลับอย่างน้อยวันละ 10-15 นาที

- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

- จัดตารางการนอนหลับในแต่ละวัน



- ออกกำลังกายและรับประทานอาหารให้ตรงเวลา

- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน งดสูบบุหรี่

- หลีกเลี่ยงกิจกรรมอันตราย  


ข้อมูล : เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC , คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพ : ทีมกราฟิก TNN ช่อง 16

ข่าวที่เกี่ยวข้อง