รีเซต

อาการหลับใน เป็นอย่างไร? ทำไม? คนขับรถต้องระวัง

อาการหลับใน เป็นอย่างไร? ทำไม? คนขับรถต้องระวัง
TeaC
27 กรกฎาคม 2564 ( 11:38 )
1.1K

อาการหลับใน หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและเกิดความสูญเสียที่ร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน อย่างกรณี "อะตอม สัมพันธภาพ" อดีตผู้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก่อนผันตัวทำหน้าที่จิตอาสาลงสมัครเข้าร่วมกับพรรคกล้า ของนายกรณ์ จาติกวณิช โดยอะตอมประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่บริเวณ กม.639-640 ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง สาเหตุคาดว่าอาจเป็นไปได้เกิดจากอาการหลับใน เพราะเขาขับรถยนต์ในระยะทางที่ค่อนข้างไกล บวกกับในขณะนั้นฝนตกและถนนลื่น ทำให้รถของอะตอมเสียหลักพลิกคว่ำในที่สุด หรือหากใครที่กำลังวางแผนเดินทางข้ามจังหวัด หรือเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว หลังหลายพื้นที่เริ่มคลายล็อกบ้าง มารู้จักอาการดังกล่าวจะได้รับมือทัน

 

อาการหลับใน เป็นอย่างไร?

 

สำหรับ "อาการหลับใน" นั้น มักจะเกิดขึ้นกับผู้ขับขี่รถยนต์เดินทางในระยะทางไกลนาน ๆ หรือช่วงเวลารถติดนาน ซึ่งหลายคนมักมองข้ามอาการหลับใน คิดว่าตัวเองสามารถควบคุม หรือฝืนความง่วงที่เกิดขึ้นขณะขับรถได้ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องที่อันตรายถึงชีวิตอย่างมาก เนื่องจากความง่วงมีความร้ายกาจที่สามารถจู่โจมแบบกระทัน หรือเรียกว่า Sleep Attack ทำให้เกิดอาการหลับค้างกลางอากาศ หรือเกิดอาการหลับในได้ 

 

ลักษณะอาการหลับใน หรือการหลับระยะสั้น ๆ (Microsleep) เป็นลักษณะปรากฏการณ์การสับสนระหว่างการหลับและการตื่น การหลับจะเข้ามาแทรกการตื่นแบบเฉียบพลันโดยที่เราไม่รู้ตัวในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1 – 2 วินาที ดังนั้น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นเรื่องสำคัญของผู้ขับขี่รถยนต์ที่ต้องเดนทางไกลนาน ๆ 

 

สาเหตุของ อาการหลับใน เกิดจากอะไรได้บ้าง ?

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายถึงสาเหตุของอาการหลับในที่เกิดขึ้นได้หลายปัจจัยที่จริง ๆ เราทุกคนต่างรู้ดีว่า ถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้อาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เมื่อต้องขับขี่รถยนต์ ได้แก่

 

การอดนอน  ใครที่นอนน้อยหรือนอนไม่พอ ต่ำกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน บอกเลยว่าคุณกำลังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการหลับใน เพราะสมองส่วนธาลามัสอาจหยุดทำงานสั้น ๆ ชั่วคราว ส่งผลให้เกิดความง่วงกะทันหัน (Sleep Attack) งีบหลับแบบที่คุณไม่รู้ตัว ลองนึกภาพตามนะขณะคุณขับรถยนต์เดินทางไกล อยู่ ๆ ความมืดเข้ามา ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรับรู้ พอลืมตาอีกทีคุณอาจนอนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมบนเตียงก็เป็นได้ นอกจากนี้การอดนอนยังทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ทั้งน้ำหนักเพิ่ม เกิดภาวะซึมเศร้า หลอดเลือดสมองตีบ หรือเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ช้าลง หากอดนอนเรื้อรังในระยะยาว


ข้อถัดมา มีพฤติกรรมนอนไม่เป็นเวลา นอนดึกตื่นสาย ส่งผลเสียต่อร่างกายในแง่ทำให้ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง รู้สึกอ่อนเพลีย นอนไม่เต็มอิ่ม เช่น เข้านอนตี 4 ตื่นนอนเที่ยงวัน คุณภาพการนอนไม่ดีเท่ากับคนที่เข้านอน 4 ทุ่ม ตื่นนอน 6 โมงเช้า 


เวลาเข้านอนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ส่งผลให้สมองเกิดความงงและเกิดความเสื่อม เพราะปกติสมองของคนเรานั้นจะจำเวลานอนและเกิดความง่วงในเวลานั้น ๆ ถ้าหากคุณมีพฤติกรรมการเปลี่ยนเวลาเข้านอนบ่อย ๆ จะทำให้เวลานอนไม่ง่วง นอนน้อยลง หลับไม่เต็มอิ่ม เช่น ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์เข้านอนดึกมากหลังตี 2 ตื่น 9 โมงเช้า ส่วนวันธรรมดาเข้านอน 4 ทุ่ม ตื่นนอนตี 5 เป็นต้น


กรรมพันธุ์  หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่ากรรมพันธุ์จะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหลับในได้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

 

  • กลุ่มนอนยาว (Long Sleepers) คือ กลุ่มบางคนที่มีความต้องการนอนนานถึง 10 ชั่วโมงจึงจะสดชื่น
  • กลุ่มนอนระยะสั้น (Short Sleepers) คือ กลุ่มคนที่นอนเพียง 4 – 5 ชั่วโมงก็ตื่นมาได้อย่างสดชื่น แต่พบได้ในจำนวนน้อยมาก 

 

ดังนั้น หากไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการนอน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือข้อควรระวังต่าง ๆ 

 

 

6 สัญญาณเตือนง่วงมากผิดปกติ เสี่ยงเกิดอาการหลับในได้

 

ทั้งนี้ เมื่อคุณต้องขับรถยนต์เดินทางไกลนาน ๆ ควรสังเกตพฤติกรรมของตัวเองว่ามีพฤติกรรมที่อาจเป็นไปได้ว่าง่วงกว่าผิดปกติหรือไม่ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนที่อาจบ่งบอกว่าคุณเสี่ยงเกิดอาการหลับใน

 

  • ตื่นตอนเช้าไม่สดชื่นอยากนอนต่อ
  • ง่วงเหงาหาวนอนบ่อย ๆ ต่อเนื่องระหว่างวัน
  • มึนศีรษะ มองภาพไม่ชัด ตาปรือ รู้สึกลืมตาไม่ขึ้น มองข้ามสัญญาณไฟจราจร
  • ขาดสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการขับขี่ที่ไม่สามารถควบคุมเส้นทางได้
  • เมื่ออยู่นิ่ง ๆ เผลอหลับแบบไม่รู้ตัว
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า กระวนกระวาย

 

อย่างไรก็ตาม การพักผ่อนให้เพียงพอเป็นเรื่องสำคัญมากไม่ว่าคุณจะขับรถยนต์เดิมทางใกล้หรือเดินทางไกล เพราะเมื่อเกิดอาการหลับใน รู้ตัวอีกทีคุณอาจสูญเสียทรัพย์สิน เจ็บตัว พิการ หรืออันตรายต่อชีวิตตัวเองและเผลอ ๆ อาจทำให้ผู้ใช้รถใช้ท้องถนนคนอื่นได้รับอันตรายด้วยเช่นกัน เพียงเพราะคุณ "หลับใน"



--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง