รู้จัก "โรคข้าวผัด" ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรีย
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-Fake News Center Thailand ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า "โรคข้าวผัด" หรือ Fried Rice Syndrome ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นข้อมูลจริง
Fried Rice Syndrome คือ กลุ่มอาการอาหารเป็นพิษที่เกิดจากการกินอาหารปรุงสุกบางชนิดที่จัดเก็บผิดวิธี (เก็บนอกตู้เย็น) จนทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Bacillus cereus หรือ B.cereus เจริญเติบโตในอาหารเหล่านั้น โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าวและพาสต้า มักเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว รวมถึง "เมนูข้าวผัด" เสี่ยงเป็นภัยเงียบจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว จนมีการตั้งชื่อภาวะโรคนี้ว่า โรคข้าวผัด (Fried Rice Syndrome) แต่บางครั้งก็พบเชื้อโรคชนิดนี้ในผัก และเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่เก็บรักษาไม่ถูกวิธีเช่นกัน โดย แบคทีเรีย B.cereus สามารถผลิตสารพิษได้ ยิ่งเก็บอาหารปรุงสุกเหล่านั้น ไว้ที่อุณหภูมิห้องนานเท่าไร เชื้อแบคทีเรียและสารพิษเหล่านี้ก็จะมีโอกาสเติบโตมากขึ้นเท่านั้น
เชื้อ B.cereus เป็นสาเหตุหลักของอาการ Fried Rice Syndrome เนื่องจากมีส่วนที่เป็นแบคทีเรียชนิดอื่นไม่มี คือ มันสร้างเซลล์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าสปอร์ ซึ่งทนทานต่อความร้อนได้ดีมาก ดังนั้น แม้ว่าผู้บริโภคจะอุ่นอาหารที่เหลือด้วยอุณหภูมิสูงก็อาจจะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคชนิดนี้ได้ ขณะที่เชื้อโรคอื่น ๆ ส่วนใหญ่เมื่อโดนความร้อนสูงก็จะตายไป
สปอร์ของเชื้อ B.cereus เหล่านี้ตามปกติมันจะอยู่ในสภาวะสงบเงียบ แต่หากได้รับอุณหภูมิและสภาวะที่เหมาะสม พวกมันก็สามารถเติบโตและจะเริ่มผลิตสารพิษที่มีความอันตรายต่อร่างกาย หากเรากินอาหารที่มีเชื้อโรคชนิดนี้จำนวนมากเข้าไป ก็จะเกิดอาการท้องเสียและอาเจียน ซึ่งโดยทั่วไปอาการเจ็บป่วยดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะหายไปเองได้ภายใน 2-3 วัน แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจมีแนวโน้มที่จะต้องไปพบแพทย์
ทั้งนี้มีคำแนะนำควรจะรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ทันที แต่หากรับประทานอาหารเหลือ หรือถ้าลืมอาหารตั้งทิ้งไว้นานกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป ก็ให้อุ่นอาหารอีกครั้งก่อนรับประทาน หรือนำเก็บเข้าตู้เย็น แต่หากต้องการแบ่งอาหารปรุงสุกไว้บางส่วน ก็ให้แบ่งไว้และนำเข้าตู้เย็นทันที ไม่ต้องรอให้เย็นสนิท แต่หากตั้งอาหารทิ้งไว้นานเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไป แนะนำว่าไม่ควรเก็บใส่ตู้เย็น และไม่ควรรับประทาน เพื่อความปลอดภัย
ข้อมูล : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-Fake News Center Thailand , กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์