รีเซต

ภาษีความหวานลดการติดหวาน คนไทยหันบริโภคเพื่อสุขภาพมากขึ้น

ภาษีความหวานลดการติดหวาน คนไทยหันบริโภคเพื่อสุขภาพมากขึ้น
TNN ช่อง16
31 มีนาคม 2568 ( 19:24 )
8

ถอดบทเรียน เก็บภาษีความหวานกับการดูแลสุขภาพคนไทย

สะท้อนผลภาษีความหวานสู่ การปรับพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ติดหวานลดลง สถิติล่าสุดปี 2566 แนวโน้มดีขึ้นทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นจนถึงเริ่มทำงานลดมากที่สุด ด้านตลาดบริโภค เพิ่มเครื่องดื่มทางเลือกให้คนรักสุขภาพเกิดขึ้นจำนวนมาก

เนื่องจากตัวเลขคนไทยบริโภคน้ำตาลมากกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำถึง 2 เท่า จนทำให้ป่วย และเสียชีวิตจากการบริโภคความหวานมากเกินความจำเป็นของร่างกาย จนก่อเกิดเป็นโรคเบาหวาน ความดัน โรคอ้วน หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต สูงถึง 70% จึงเป็นที่มาของการริเริ่มจัดเก็บ “ภาษีความหวาน”

การจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตจากค่าความหวาน (ปริมาณความหวาน) จากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และผู้นำเข้าเครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและสามารถละลายน้ำได้ ปัจจุบัน การจัดเก็บภาษี เข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว 

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนในมุมมองของ ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน  บอกว่า นับตั้งแต่เริ่มดำเนินนโยบายเก็บภาษีความหวานในปี 2561 จนถึงปรับการจัดเก็บภาษีครั้งล่าสุดในปี 2566 ภาพรวมพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มเป้าหมายเดิมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี

ในปี 2566 ค่าเฉลี่ยการบริโภคหวานของคนไทยอยู่ที่ 305 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน จากปี 2561 อยู่ที่ 370.9 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน  กลุ่มที่ลดอย่างมีนัยคือวัยรุ่นจนถึงคนทำงานตอนต้นอายุระหว่าง 15-29 ปี จากปีแรก ๆ ที่มีค่าเฉลี่ยการบริโภคความหวานอยู่ที่ 627 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน ปีล่าสุดลดลงเหลือ 500 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน ซึ่งถือว่ามีอัตราการบริโภคความหวานลดลงมากที่สุด

“โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ จากการจัดครั้งล่าสุด รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานตอนต้นที่มีการบริโภคลดลงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ”

โครงการบูรณาการเครือข่ายอ่อนหวานอาหารปลอดภัย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการบริโภคน้ำตาลอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ พบว่า ภาคธุรกิจมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการเก็บภาษีความหวานเกิดขึ้น 

ปัจจุบันมีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำกว่า 6 กรัมเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่มีเพียง 90 ล้านลิตรในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 4,800 ล้านลิตรในปี 2567 ซึ่งเป็นสัญญาณบวกของการมีตัวเลือกเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มากขึ้น

ขณะที่ ปริมาณรายได้การจัดเก็บภาษี ก็เป็นอีกดัชนีชี้วัดการปรับตัวดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยรายได้ภาษีหวานเกินปริมาณลดลงจากปี 2561 เก็บได้ 3,200 ล้านบาท ปัจจุบัน ปี 2567 ลดลงเหลือ 2,800 ล้านบาท

 นอกจากนี้ รายงานวิจัยไม่กินหวาน ยังพบว่า ภาษีความหวานที่จัดเก็บอยู่ในขณะนี้นั้น อุตสาหกรรมเครื่องดื่มถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการบริโภคน้ำตาลของทั้งประเทศ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 30 ของทั้งหมด ข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลระบุว่า การส่งน้ำตาลเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีแนวโน้มลดลงหลังภาคอุตสาหกรรมธุรกิจเครื่องดื่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับภาษีความหวานที่มีการขยับขึ้น

นอกจากการลดความหวานที่เติมลงในเครื่องดื่มลง บางส่วนมีการนำสารให้ความหวานทดแทนมาใช้ ขณะที่บางส่วนไม่ได้มีการปรับสูตรลดความหวานลงแต่เปลี่ยนมาลดขนาดบรรจุลงแทน เพื่อให้สามารถจำหน่ายในราคาเดิมได้

เครื่องดื่มชูกำลังมีการปรับสูตรเพื่อรองรับมาตรการภาษีตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ขณะที่น้ำสีชนิดต่าง ๆ ก็มีการปรับสูตรด้วยเช่นกัน แต่ยังมีเครื่องดื่มบางชนิดที่ยังคงสูตรเดิมและมีการปรับราคาขึ้น

ขณะที่น้ำหวานเข้มข้นแบบผสมชงดื่มจะอยู่นอกเหนือมาตรการภาษีความหวาน กลับมีการปรับราคาสูงขึ้นเท่าตัวนับตั้งแต่มีภาษีความหวานเกิดขึ้น

“ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงความสนใจในการดูแลสุขภาพของคนไทยที่มีมากขึ้น ขณะที่ความตระหนักถึงเครื่องดื่มที่มีรสหวานก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน” ทพญ.ปิยะดา ยืนยัน

จากนี้ไป สิ่งที่ภาครัฐและองค์กรด้านสุขภาพควรทำคือการผลักดันให้เกิดการบริโภคน้ำตาลในระดับที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 

…เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง