YouTube ปรับกฎใหม่เนื้อหาซ้ำคอนเทนต์ AI เสี่ยงหมดสิทธิ์สร้างรายได้ เริ่ม 15 ก.ค. นี้

ข่าวใหญ่ที่วงการครีเอเตอร์ต้องทราบ YouTube เตรียมบังคับใช้นโยบายใหม่ใน โปรแกรมพันธมิตร YouTube (YouTube Partner Program หรือ YPP) เพื่อจัดระเบียบคุณภาพคอนเทนต์และควบคุมเนื้อหาที่ผลิตซ้ำหรือใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการสร้างแบบไร้คุณค่า โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
สรุปประเด็นสำคัญของนโยบายใหม่ YouTube
1. เนื้อหาที่สามารถสร้างรายได้ต้องเป็น “ต้นฉบับ” และ “ไม่เหมือนใคร”
2. YouTube จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับเนื้อหาที่ผลิตจำนวนมากหรือซ้ำซาก
3. มีการปรับเกณฑ์เพื่อแยกแยะเนื้อหาที่ไม่ใช่ต้นฉบับ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
4. คอนเทนต์ที่ใช้คลิปจากแหล่งอื่นแบบไม่ได้แปลงหรือใส่คุณค่า เช่น Reaction, Compilation, คลิปรีอัปโหลด, คอนเทนต์ที่สร้างโดย AI จะถูกพิจารณาใหม่ทั้งหมด
สำหรับเงื่อนไขพื้นฐานในการสร้างรายได้จะยังเหมือนเดิม เช่น ต้องมีผู้ติดตามอย่างน้อย 1,000 คน และมียอดรับชม 4,000 ชั่วโมงในรอบ 12 เดือน หรือมียอดชมวิดีโอสั้นรวม 10 ล้านครั้งใน 90 วันที่ผ่านมา โดย YouTube จะได้ปรับรายละเอียดใหม่เพื่อจัดการกับคอนเทนต์ซ้ำซากและวิดีโอที่ผลิตโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)
แม้ว่า YouTube จะยังไม่เปิดเผยนโยบายฉบับเต็มอย่างเป็นทางการ แต่จากรายงานของเว็บไซต์ TechCrunch สื่อด้านเทคโนโลยีชั้นนำ และการชี้แจงโดยเรเน่ ริทชี่ (Rene Ritchie) ผู้ประสานงานครีเอเตอร์ของ YouTube ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เป็น "การอัปเดตเล็กน้อย" ของโปรแกรม YPP ที่มีอยู่แล้ว แต่ต้องการย้ำให้ชัดว่า คลิปซ้ำจำนวนมากหรือคอนเทนต์คุณภาพต่ำจะไม่สามารถสร้างรายได้อีกต่อไป
โดยเรเน่ ริทชี่ (Rene Ritchie) ระบุว่า คอนเทนต์บางประเภทอย่างวิดีโอ Reaction หรือการตัดต่อคลิปจากผู้อื่น ไม่มีสิทธิ์สร้างรายได้อยู่แล้วในทางปฏิบัติ แต่ตอนนี้ YouTube จะมีการบังคับใช้ให้ทั่วถึงและตรวจสอบเข้มขึ้น
คอนเทนต์ AI กำลังถูกเพ่งเล็ง
ความกังวลสำคัญคือคอนเทนต์ที่สร้างโดย AI เช่น วิดีโอที่ใช้เสียงสังเคราะห์ ภาพ AI หรือแม้แต่การเขียนสคริปต์อัตโนมัติ ซึ่งเว็บไซต์ TechCrunch เรียกเนื้อหาประเภทนี้ว่า "AI slop" หรือคอนเทนต์ขยะคุณภาพต่ำที่ผลิตซ้ำออกมาจำนวนมากเพื่อสร้างรายได้แบบง่ายๆ
YouTube พบว่าปัจจุบันมีหลายช่องที่ใช้ AI สร้างคอนเทนต์จนมีผู้ติดตามหลักล้าน และสร้างรายได้จำนวนมาก แต่หลายคลิปไม่มีมูลค่าเพิ่มหรือถูกใช้เพื่อหลอกลวง เช่น กรณี AI สร้างคลิปปลอมแปลงตัวตนผู้บริหารของ YouTube เอง
การอัปเดตกฎในครั้งนี้จึงสะท้อนว่า YouTube กำลังหาทางควบคุม คอนเทนต์สแปมจาก AI ที่อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ แพลตฟอร์ม และรายได้ของครีเอเตอร์ที่เป็นมนุษย์แท้จริงในระยะยาว และเพื่อส่งเสริม “ครีเอเตอร์ตัวจริง” ที่มีความตั้งใจ สร้างสรรค์ และเชื่อถือได้ พร้อมผลักดันให้แพลตฟอร์มกลับมาเป็นพื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์ที่แท้จริงอีกครั้ง
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
